พูดถึงย่านเมืองเก่า หลายคนที่เคยมาเที่ยวภูเก็ตก็มักจะนึกถึงถนนถลางกันเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้นยังมีอาณาบริเวณรวมไปถึงถนนอื่นๆ ใกล้เคียงถนนถลาง และมีความน่าสนใจไม่แพ้ถนนถลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนดีบุก ซึ่งเป็นถนนที่ขนานไปกับถนนถลางและถนนกระบี่ เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและตึกแถวเก่าแก่ที่เรียงรายไปตามสองฝั่งถนน สำหรับคนที่หลงใหลในความสวยคลาสสิคของอาคารสไตล์โคโลเนียล จะได้เห็นทั้งลวดลายปูนปั้น ขอบประตู หน้าต่าง ช่องลม บานประตู ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ในอดีตถนนถลางนั้นนับเป็นย่านร้านค้า ส่วนถนนดีบุกจะเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคหบดีชาวจีน ถนนดีบุกสร้างขึ้นในยุคเหมืองแร่ดีบุกรุ่งเรืองบนเกาะภูเก็ต จึงเป็นที่มาของชื่อถนนสายนี้ บรรยากาศของถนนดีบุกโดยรวมๆ อาจจะดูไม่หวือหวา แต่บนถนนเส้นนี้มีที่น่าเที่ยวร้านน่ารักให้แวะนั่งพักและถ่ายรูปตลอดสองฝั่งถนน ถนนดีบุกเป็นถนนที่เดินเล่นได้สบายๆ ระยะทางไม่ไกลมาก เลยอยากชวนคุณๆ มาเดินเล่นหนุกๆ ที่ถนนดีบุกกันดีกว่า
เราเลือกเริ่มต้นจากถนนดีบุกฝั่งสี่แยกถนนเทพกระษัตรีตัดกับถนนดีบุก ที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่าแยกตั่วโพ้ เดินมุ่งหน้าไปทางสี่แยกถนนดีบุก มีหลายจุดที่ไม่อยากให้คุณพลาด
โรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้น เป็นโรงตีเหล็กเก่าแก่เพียงแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่บนถนนดีบุก ในอดีตถนนดีบุกมีโรงตีเหล็กอยู่หลายเจ้า เป็นผลพวงจากความรุ่งเรืองของยุคเหมืองแร่ในภูเก็ต โรงตีเหล็กส่วนใหญ่รับงานตีเหล็กเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในเหมือง แต่ภายหลังการทำเหมืองแร่หมดไป โรงตีเหล็กก็ค่อยๆ ปิดตัวลง จนเหลือเพียงแห่งเดียว คือโรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้นแห่งนี้ ปัจจุบันที่นี่ยังมีการตีเหล็กด้วยวิธีดั้งเดิม เครื่องมือเครื่องใช้ เตาไฟ ผ่านการใช้งานมานานดูเข้มขลังมากทีเดียว
วัดมงคลนิมิตร หรือวัดกลาง เป็นพระอารามหลวงของจังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2423 ภายในมีอาคารเก่าแก่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ได้แก่ กุฏิเอี่ยมอนุสรณ์ กุฏิของพระครูพิพัฒน์ กุฏิพระราชวิสุทธิวงศาจารย์ และศาลาแม่ป้อง ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล-นีโอคลาสสิค
อาคารส่องเต็ก หรือ สโมสรไทยหัว เป็นอาคารเก่าแก่ที่สวยงามอีกอาคารหนึ่งของย่านเมืองเก่า ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกๆ ของภูเก็ต ชื่อโรงเรียนส่องเต็ก ภายหลังอาคารถูกเช่าไปเป็นโรงพยาบาลมิชชั่น และสมาคมฮกเกี้ยน ปัจจุบันมีการบูรณะอาคารและใช้เป็นสโมสรไทยหัว
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นงานสตรีทอาร์ทข้างกำแพงบ้านเก่าที่เผยตัวอย่างสง่างามกลางสี่แยกถนนดีบุก ซึ่งกลุ่มศิลปินและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความจงรักภักดี เป็นงานสตรีทอาร์ทใจกลางเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกอย่างไม่ขาดสายตลอด 1 – 2 ปีที่ผ่านมา
อาคารสี่แยกถนนดีบุก มุมมหาชนที่ช่างภาพส่วนใหญ่ต้องมาเชคอินเพื่อเก็บภาพ อาคารสไตล์ชิโนยูโรเปียนเก่าแก่ที่ตั้งตระหง่านประชันกัน 2 ฝั่งหัวมุมถนน ตัวอาคารได้รับการบูรณะทาสีใหม่ดูสดใส และมีทางเดินหง่อคาขี่ หรือทางเดินอาเขตอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นอีกมุมที่นำเสนอความเป็นภูเก็ตซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ไปทั่วโลกเลยทีเดียว
Bike cafe เดินจากสี่แยกขึ้นมาอีกนิด ฝั่งซ้ายมือของถนนเราจะเห็นร้านขายจักรยานร้านหนึ่งแฝงตัวอยู่อย่างเรียบง่าย เดินเข้ามาในร้านจึงได้รู้ว่าที่นี่มีกาแฟให้บริการด้วย หย่อนก้นนั่งสั่งกาแฟสักแก้วแล้วพูดคุยกับเจ้าของร้าน ‘คุณต้า’ ถือเป็นการพักเหนื่อยแบบเบาๆ อย่างดีทีเดียว คุณต้าอัธยาศัยดี มีข้อมูลเกี่ยวกับการปั่นจักรยานแบบทัวร์ริ่งพร้อมแลกเปลี่ยนด้วยความเต็มใจ โดยเฉพาะเส้นทางปั่นเที่ยวในภูเก็ตสามารถขอข้อมูลจากคุณต้าได้เลย นักปั่นสายชิลล์ถูกใจแน่นอน
https://www.facebook.com/BikeCafePhuket/
ร้านขนมพื้นเมือง บนถนนดีบุกมีร้านขายขนมพื้นเมืองอยู่ 2 ร้าน คือร้านขนมพื้นเมืองภูเก็ต และร้านอาตั๊กแก ทั้งสองร้านรวมขนมไว้มากมาย เจ้าของร้านทำไปขายไป ถ้ามีจังหวะดีๆ สามารถขอเข้าไปชมการทำขนมได้ กลิ่นขนมหอมๆ สดจากเตาชวนให้เราต้องซื้อมาชิมและติดไม้ติดมือไปเป็นของฝากด้วย
เตี่ยมฉู่ หรือตึกแถวสีหวานๆ ถือเป็นสีสันที่แต่งแต้มให้ถนนเส้นนี้มีชีวิตชีวา เตี่ยมฉู่ ภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า ตึกแถว ซึ่งเรียงตัวสองฝั่งถนน มีลักษณะแตกต่างจากเตี่ยมฉู่ถนนถลาง คือมีรั้วกั้นด้านหน้าเพราะเป็นบ้านพักอาศัย แม้ปัจจุบันบางหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารและร้านค้าที่มีสไตล์ เช่น ร้าน Dibuk Restaurant ที่ให้บริการทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งเศส ร้าน Royal Pennae Floris เป็นร้านดอกไม้ที่ตกแต่งภายในอย่างพิถีพิถันสไตล์โคโลเนียล ดอกไม้สวยๆ และของตกแต่งบ้านชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้อาคารเก่าดูสดชื่นขึ้น ร้านนี้ยังมีโปสการ์ดและการ์ดลายดอกไม้หวานๆ ที่เจ้าของร้านวาดเองจำหน่ายอีกด้วย เผื่อใครอยากเขียนโปสการ์ดส่งไปหาคนสำคัญแวะร้านนี้ได้เลย
ร้านเย็นตาโฟสามพี่น้อง เดินมาเหนื่อยๆ ท้องเริ่มร้องขออะไรอร่อยๆ มาดับความหิว ถ้าอยากเข้าถึงรสชาติแบบคนท้องถิ่นแนะนำให้ชิมเมนูนี้เลย เย็นตาโฟภูเก็ต ที่ร้านบะหมี่สามพี่น้อง เย็นตาโฟสไตล์ภูเก็ตต่างจากเย็นตาโฟที่อื่นๆ ด้วยรสชาติเข้มข้นของน้ำเย็นตาโฟสีแดง และยังใส่เต้าหู้ทอด กับกุ้งตัวเล็กชุบแป้งทอดกรอบๆ แปลกใหม่ยังไงต้องมาชิมเอง
Tantitium แต่ถ้าอยากจะทานอาหารในบรรยากาศหรูๆ หน่อย แนะนำที่ Tantitium ที่เป็นทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ และสปา ภายในอาคารเก่าที่ถูกรีโนเวทใหม่และตกแต่งสไตล์โมเดิร์นชิโนโคโลเนียล มีทั้งความคลาสสิกและความหวือหวา นอกจากอาหารพื้นเมืองแบบฟิวชั่น กาแฟรสดี เครื่องดื่มนานาชนิด ดนตรีเพราะๆ บริการสปาเพื่อผ่อนคลาย ที่นี่ยังมีมุมเก๋ๆ ให้ถ่ายรูปแบบไม่มีเบื่อเลย
https://www.facebook.com/Tantitium/
The shelter Coffee อิ่มท้องแล้วก็หากาแฟดื่มสักแก้วก่อนไปต่อ ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม Tantitium มีร้านกาแฟเล็กๆ ที่มีความเด็ดอยู่ที่บาริสต้า เพราะบาริสต้าของร้านเป็นถึงแชมป์ระดับประเทศ กาแฟของที่นี่จึงถูกร่ำลือไปปากต่อปากว่ารสชาติดี คงเป็นเพราะความพิถีพิถันของบาริสต้าและเจ้าของร้านที่ดูใส่ใจกับเครื่องดื่มทุกแก้วที่เสิร์ฟไปให้ลูกค้า นอกจากกาแฟที่นี่ยังมีอาหารจานด่วนให้บริการด้วย เป็นจุดนั่งชิลล์บนถนนดีบุกอีกจุดที่อยากแนะนำ
https://www.facebook.com/thesheltercoffeephuket/
ซินหล่อ เฮ้าส์ เป็นอีกหนึ่งร่องรอยของอดีตที่ถูกจับมาชุบชีวิตตกแต่งใหม่จนกลายเป็นอาคารสีขาวสวยสง่างาม ที่นี่เป็นที่พักขนาด 17 ห้อง แต่ละห้องตกแต่งแตกต่างกันในสไตล์ชิโนอินดัสเทรียล ดูแข็งแรงและนุ่มนวลไปพร้อมกัน ชั้นล่างจัดสรรพื้นที่เป็นแกลเลอรี่ซึ่งตอนนี้แสดงผลงานของกลุ่ม VernaDoc กลุ่มสถาปนิกอาสาที่มาทำการรังวัดวาดแปลนคฤหาสน์หลวงอำนาจนรารักษ์เพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณ ผู้สนใจสามารถเดินเข้าไปชมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
https://www.facebook.com/XinlorHouse/
อั่งหม่อเหลาหลวงอำนาจนรารักษ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2454 อั่งหม่อเหลา แปลว่า บ้านหรือคฤหาสน์แบบฝรั่ง อาคารมีลักษณะ 2 ชั้น มีหน้ามุขและอาคารแยกเป็นปีกซ้าย-ขวา สีเหลืองของอาคารซีดจางไปตามกาลเวลา หน้าจั่วและตัวอาคารตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีนดูอ่อนช้อยและแฝงไปด้วยคติความเชื่อ ในอดีตหลวงอำนาจนรารักษ์เป็นผู้บุกเบิกประเพณีถือศีลกินผักในภูเก็ต ท่านเป็นที่นับถือของผู้คนทั่วไป ปัจจุบันอั่งหม่อเหลาหลังนี้ตกเป็นของลูกหลานผู้สืบสกุล และไม่เปิดให้เข้าชมภายใน สามารถชมและถ่ายรูปจากภายนอกได้