เคยไม๊ เวลาไปเรียนหรือไปทำงานไกลบ้าน แล้วคิดถึงกับข้าวฝีมือแม่ ป้า หรือย่ายาย ที่เคยทำให้กินที่บ้านตอนเด็กๆ รสมือที่คุ้นเคยแม้จะเป็นกับข้าวธรรมดาๆ แต่มันจะพิเศษเสมอในความทรงจำ ความรู้สึกคิดถึงกับข้าวที่บ้านตอนไปเรียนต่างจังหวัดนี่แหละ ที่ทำให้ ‘คุณทับทิม’ เกิดแรงบันดาลใจในการเปิดร้าน ‘กินกับอี๋’ ขึ้นมา
อี๋คือใคร ทำไมต้องกินกับอี๋ อี๋ ภาษาจีนฮกเกี้ยนหมายถึง ป้า หรือน้าสาว ซึ่งสำหรับคุณทับทิม อี๋ก็คือ อี๋ซิ้ม วัย 70 ปี พี่สาวของแม่ ป้าแท้ๆ ที่ดูแลกันมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่แม่ไม่ถนัดเรื่องทำกับข้าว คุณทับทิมเล่าว่า เธอโตมากับกับข้าวฝีมืออี๋ซิ้ม พอไปเรียนไกลบ้านก็เกิดคิดถึง ด้วยความกลัวอดเลยขอให้อี๋ซิ้มถ่ายทอดวิชาทำกับข้าวให้ จึงพอทำเป็นอยู่บ้างโดยเฉพาะเมนูโปรด พอเรียนจบจนตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน เลยคิดว่าอยากลองเปิดร้านเล็กๆ ทำกับข้าวเมนูที่บ้านเราทำประจำแล้วอร่อย ให้คนอื่นได้ชิมกับข้าวสูตรของอี๋บ้าง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อร้าน กินกับอี๋
“บ้านเราอยู่ในหมง ใครจะมากิน” อี๋ซิ้มเปรยๆ ตั้งแต่แรกที่ได้ยินไอเดียเปิดร้านอาหารของคุณทับทิม เพราะบ้านม่าหนิก ที่ตั้งของร้านน่ะเปรียบไปก็เหมือน ‘อยู่ในหมง’ แปลตรงตัวคืออยู่ในป่า อี๋แกหมายความว่า อยู่ไกลตัวเมือง อี๋กลัวไม่มีใครมากิน แต่ 8 เดือนของการเปิดร้านกินกับอี๋มา อี๋ซิ้มก็ได้เห็นแล้วว่า ต่อให้ม่าหนิกอยู่ในหมง แต่ลูกค้าก็พร้อมจะแห่กันมา เพราะอยากมากินกับข้าวฝีมืออี๋
อย่างที่บอกว่าเมนูที่ร้านจะเป็นเมนูประจำบ้าน คือเป็นเป็นเมนูที่บ้านนี้ทำกินกันประจำ เป็นสูตรเฉพาะของบ้านนี้ เรียกว่าเป็นกับข้าวที่อยากอวด และอยากชวนให้มาชิม เหมือนชวนเพื่อนมากินข้าวที่บ้าน นั่งกินในสวน ลมพัดเย็นสบาย
“กับข้าวส่วนใหญ่เป็นสูตรของอาม่าทับทิม คือหมะของอี๋ทำให้กินตั้งแต่เมื่อก่อน อี๋ก็ได้เรียนรู้มาจากการช่วยหมะทำกับข้าว เราก็จำมา ทำมา ทำให้พวกนี้กินตั้งแต่เด็กๆ จนมันโตกันหมดแล้ว” อี๋ซิ้มเล่าถึงที่มาของความอร่อย เมนูที่ร้านหลายๆ อย่างเป็นมากกว่าอาหารพื้นเมือง แต่เป็นอาหารพื้นเมืองสูตรเฉพาะของครอบครัว เมนูแนะนำก็เช่น ‘ปลาลำซึ้ง’ อึ้งใช่ไม๊ล่า แค่เมนูแรกก็ไม่คุ้นชื่อแล้ว ‘ปลาทอดเครื่อง’ ที่อี๋เล่าว่า ปลาทอดเครื่องของอี๋ต้องหวะ(ผ่า)เนื้อแล้วเอาเครื่องยัดลงไปทอดทั้งปลาทั้งเครื่องพร้อมกัน พอใกล้สุกถึงเติมเครื่องลงไปอีก ไม่ใช่ทอดปลาที ราดเครื่องทีเหมือนที่อื่นเขาทำกัน ‘เอี่ยมต้อคั่วเกลือ’ เนื้อหมูแทรกมันสุดนุ่มคลุกดอกเกลือลงไปคั่วจนสุกแล้วโรยเกลืออีกทีให้เค็มกรุบกริบ ‘แกงส้มโชน’ ที่อี๋เยาะ หรือยอก หรือตำนั่นแหละ เมนูแกงเผ็ดทุกอย่างที่นี่ทีมงานคุณภาพตำเครื่องเองทั้งหมด ไม่ใช้เครื่องแกงสำเร็จรูป ‘น้ำชุบเยาะ หรือ น้ำชุบยอก’ น้ำพริกพื้นเมืองเนื้อขลุกขลิก ที่อี๋ต้องเยาะเองเกือบทุกครก เพราะไม่ไว้ใจมือเยาะคนอื่น นอกจากนี้ก็ยังมี ไก่แป๊ะซะ กระดูกหมูเต้าเจี้ยว ผัดผักเหมียง แกงเลียง และอีกหลายเมนูที่อี๋และทีมงานพร้อมจะต้มผัดแกงทอดให้คุณได้อิ่มอร่อย
นอกจากสูตรอาหารและความพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบ ปลาต้องสด ผักเอย หอมเอย กระเทียมเอย คัดแล้วคัดอีก ล้างแล้วล้างอีก ต้องสะอาดและเป็นของดี อี๋คุมคุณภาพทุกขั้นตอนแบบที่ทำให้คนในบ้านกิน อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของที่นี่ คืออี๋ในชุดกระโจมอกสุดเก๋ เป็นชุดประจำชาติของสาวภูเก็ตเวลาอยู่บ้าน ด้วยความที่ภูเก็ตอากาศร้อน คุณไม่ต้องแปลกใจถ้ามาเจออี๋อยู่ในครัวด้วยชุดวันพีซ อี๋บอกว่า อยู่หน้าเตาอากาศร้อนจะเป็นลมใส่เสื้อไม่ได้ ร้อนแล้วหงุดหงิดเดี๋ยวจะทำกับข้าวไม่อร่อย ก็ขอให้เข้าใจในสไตล์ของอี๋ด้วย
อย่างที่บอกว่าที่นี่มีทีมงานคุณภาพ นอกจากอี๋ซิ้ม คุณทับทิม แล้ว ยังมีอี๋ทรงป้าสะใภ้ คุณพ่อคุณแม่คุณทับทิม หลานๆ อี๋ ที่ช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่ปลูกผัก ซื้อวัตถุดิบ ล้างผัก เด็ดพริก เยาะเครื่องแกง กวนสังขยา รับออร์เดอร์ ช่วยหน้าเตา เสิร์ฟอาหาร คิดเงิน เก็บโต๊ะ ล้างจาน เป็นบรรยากาศของครอบครัว ทำให้รู้สึกเป็นกันเองครื้นเครงสบายๆ คุณทับทิมเล่าว่า ลูกค้าบางคนมาทานอาหารก็จะเข้ามาทักทายอี๋ในครัว ยกมือไหว้ มาขอถ่ายรูปกับอี๋ มาชวนคุย ลูกค้าเหมือนลูกหลาน เหมือนพี่น้อง มานั่งกินข้าวกินปลากัน
นั่งรออี๋ทำกับข้าวให้กิน บรรยากาศที่นี่จึงเหมือนเป็นบ้านมากกว่าร้านอาหาร
ความที่ร้านเปิดอาทิตย์ละ 3 วัน คือ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่ 11.00-18.30 น. ด้วยเหตุผลที่คุณทับทิมบอกว่าไม่อยากให้อี๋เหนื่อยเกินไป คิวที่ร้านก็จะแน่นหน่อยๆ จึงอยากแนะนำว่า ก่อนมากินกับอี๋ โทรจองกับคุณทับทิมล่วงหน้าสักนิด (เบอร์โทรติดต่อ: 095-428-7195 ) ว่าอยากกินอะไร ทีมงานจะได้จัดสรรไว้ให้อย่างพร้อมเพรียง จะจองโต๊ะ สั่งอาหาร หรือดูว่าแต่ละวันมีวัตถุดิบพิเศษอะไรบ้าง ลองตามจากเพจ https://www.facebook.com/eatwithaunt/ จะได้ไม่มาเก้อหรือผิดหวัง เพราะอี๋อยากให้ทุกคนได้มากินกับอี๋ แล้วแฮปปี้กลับไปทุกคน