อาคารสีเหลืองตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หัวมุมถนนพังงา ที่หลายคนรู้จักดี เพราะเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าภูเก็ต และใครๆ มักจะมาแวะถ่ายรูปเก็บภาพความสวยงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อาคารทั้งสองมีอดีตอันยาวนานก่อนที่จะมาเป็น “พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์” ในปัจจุบัน อายุของอาคารกว่าร้อยปี เต็มไปด้วยเรื่องราวที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต
ในอดีตอาคารพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ ถูกเรียกขานว่า ธนาคารชาร์เตอร์ด ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2452 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต เล็งเห็นว่าภูเก็ตมีการค้าขายรุ่งเรือง เห็นสมควรให้มีการก่อสร้างธนาคารแห่งแรกขึ้น โดยในเวลาต่อมาธนาคารได้ขอให้มีการก่อสร้างสถานีตำรวจฝั่งตรงข้ามเพื่อรักษาความปลอดภัย เป็นสถานีตำรวจตลาดใหญ่ ธนาคารชาร์เตอร์ดดำเนินกิจการจนถึงปี พ.ศ.2532 หลังจากนั้นธนาคารนครหลวงไทยเช่าเป็นสำนักงานสาขาภูเก็ต และภายหลังสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตมอบให้เทศบาลนครภูเก็ตปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมือง เทศบาลนครภูเก็ตได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคาร โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย กระทั่งในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ “พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์” และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560
รูปแบบดั้งเดิมของตัวอาคาร 2 ชั้นแห่งนี้ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ชั้นบนเป็นพื้นไม้ ส่วนระเบียงชั้นสองเป็นพื้นปูน มีช่องโค้งเรียงตามแบบอาคารยุโรปยุคคลาสสิก พื้นชั้นสองอาศัยการค้ำจุนด้วยผนังหนา และคานเหล็กที่หล่อมาจากประเทศอังกฤษ หลังคาแต่เดิมเป็นกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน หน้าต่างประตูทำด้วยไม้ รูปแบบการก่อสร้างได้รับอิทธิพลมาจากทางปีนัง ด้านล่างเป็นสำนักงาน ด้านบนเป็นสโมสรพนักงาน แต่ปัจจุบัน หลังจากได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยมุ่งเน้นดำรงคุณค่าของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะอาคารแห่งนี้นับเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต อาคารถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าของชาวพื้นถิ่นภูเก็ต หรือ ชาวเพอรานากัน ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยและแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ
เมื่อเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ ภายในพื้นที่ชั้น 1 เป็นห้องโถงที่จะมีการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป อย่างเช่นช่วงที่เราเข้าไปชมก็มีการจัดแสดงนิทรรศการเมืองไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นอกจากพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว มีมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือห้องเซฟ ซึ่งเป็นห้องที่มีผนังหนาราว 1 เมตร เพดานเป็นแผ่นเหล็กหนา เดิมคือที่เก็บตู้เซฟของธนาคาร ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดเครื่องประดับเพอรานากันที่งดงาม ทั้งต่างหู สร้อย แหวน เข็มกลัดติดเสื้อ ส่วนพื้นที่จัดแสดง “นิทรรศการเพอรานากันนิยม” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ใช้เทคนิคอนิเมชั่นที่แปลกใหม่ในการนำเสนอนั้น จะจัดแสดงบริเวณชั้น 2 ของอาคาร
เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ จะเป็นผู้นำเราชมนิทรรศการ คอยให้ข้อมูลและตอบคำถาม การจัดแสดงจะแบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่ เวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ชั้นบนแบ่งเป็นห้องจัดแสดง 4 ห้อง ได้แก่ ห้องแรกบอกเล่าถึงความเป็นมาและตัวตนของชาวเพอรานากัน โดยมีการฉายภาพยนตร์เรื่องราวชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งที่เดินทางล่องเรือมาจากเมืองจีน ต้องต่อสู้เอาตัวรอดและตั้งรกรากอยู่ที่เกาะภูเก็ตจนมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน ห้องที่สองแสดงถึงการใช้ชีวิตของชาวเพอรานากัน บ้านเรือน ความเป็นอยู่ ห้องที่สาม จัดแสดงให้เห็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้หญิงชาวเพอรานากัน ที่มีความงดงามแปลกตาและเป็นเอกลักษณ์ นำเสนอโดยการฉายภาพลวดลาย เครื่องแต่งกายในชุดต่างๆ ไปยังตัวหุ่นผู้หญิง ดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจ ห้องที่สี่ เล่าถึงอาหารการกินของชาวเพอรานากัน ที่มีรูปแบบการนำเสนอแปลกใหม่ โดยการฉายภาพอาหารลงไปในหม้อและเตาไฟ คล้ายเรากำลังยืนดูแม่ครัวลงมือปรุงอาหารอยู่บนเตาร้อนๆ การจัดแสดงทั้งหมดแม้ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็สามารถเล่าให้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวเพอรานากันได้ค่อนข้างรอบด้าน โดยที่ผู้ชมไม่ต้องยืนอ่านตัวหนังสือเยอะๆ เหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ไม่น่าเบื่อและเพลิดเพลินมากทีเดียว
นอกเหนือจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์แล้ว เรายังสามารถเดินข้ามถนนไปอาคารฝั่งตรงข้าม เพื่อเข้าไปชมนิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์การกำเนิดย่านเมืองเก่าภูเก็ต จากสมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จัดแสดงด้วยภาพวาดลายเส้นและภาพอนิเมชั่นที่เคลื่อนไหวได้อีกด้วย
ในภูเก็ตอาจจะมีพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมหลายแห่ง แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์แห่งนี้ น่าจะเป็นแห่งเดียวที่มีรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ น่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่คนทุกวัยควรได้เข้าไปสัมผัส เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับคำว่า “เพอรานากัน” ให้เข้าใจอย่างชัดเจน
พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.30 น.