อากาศร้อนๆแบบนี้ หลบแสงแดดไปหาความรู้แบบเพลิดเพลินจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ล่าสุด เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวเพอรานากันบนเกาะภูเก็ตนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นตัวตนและเข้าใจถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรมเพอรานากันในจังหวัดภูเก็ต เรียกว่าเป็น one stop service สำหรับผู้สนใจ และหลงใหลในวัฒนธรรมเพอรานากัน
คำว่าเพอรานากัน คำนี้อาจจะไม่คุ้นหูชาวภูเก็ตเท่ากับคำว่า บาบ๋า ย่าหยา แต่คำนี้เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง ลูกผสมระหว่างชาวจีนกับชาวพื้นถิ่นในแถบประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมีร่องรอยวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เพราะมีรากเหง้าเดียวกันนั่นเอง
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ตซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารโครงการเดอะการ์เด้น แบ่งเป็นห้องต่างๆ บอกเล่าวิถีชีวิตในแต่ละแง่มุม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คอยให้ข้อมูลแฝงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยได้อย่างน่าสนใจ
เริ่มต้นห้องแรกบอกเล่าถึงที่มาของชาวเพอรานากัน ไขคำตอบว่าชาวเพอรานากันคือใครมาจากไหน จากนั้นจะเข้าสู่ส่วนที่สอง ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเรือนของชาวเพอรานากันบนเกาะภูเก็ต รูปแบบอาคารในยุคต่างๆ ซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมพบเห็นได้ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต การออกแบบบ้านแฝงไว้ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อและประโยชน์ใช้สอย การจัดแสดงแบบจำลองบ้าน shop house หรือตึกแถวทำให้เห็นโครงสร้างทั้งภายนอกภายในนำสู่ห้องจัดแสดงห้องต่อไป ซึ่งจำลองบ้านของชาวเพอรานากันภูเก็ตให้เราได้เดินเข้าไปชม ตั้งแต่หน้าบ้านที่มีหง่อคาขี่ เข้าสู่ส่วนแรกของบ้านคือห้องรับแขก เรื่อยไปจนถึงส่วนกลางของบ้านซึ่งเป็นส่วนอยู่อาศัย ห้องครัว และห้องนอน ทุกมุมจัดแสดงเหมือนบ้านที่มีคนอาศัยอยู่จริง มีรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่ลวดลายบนประตู หน้าต่าง ป้ายชื่อตระกูลหน้าบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ ภาพถ่าย โต๊ะบูชา เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะห้องครัวมีการจำลองเตาโบราณ จัดวางเครื่องครัวเครื่องใช้ต่างๆ อย่างสมจริง มีการฉายภาพเคลื่อนไหวให้ผู้ชมได้เลือกดูข้อมูลอาหารพื้นเมืองภูเก็ตผ่านจอทัชสกรีน เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การจัดแสดงมีสีสันยิ่งขึ้น ทุกรายละเอียดบอกเล่าเรื่องราวได้หมด ทำให้เราเห็นตัวตนของชาวเพอรานากันภูเก็ตในอดีตว่าเขาเป็นอยู่กันอย่างไร
ห้องจัดแสดงต่อมานำเสนอไลฟ์สไตล์ของผู้คนในอดีตผ่านภาพถ่ายโบราณที่บันทึกเหตุการณ์ในอดีตเอาไว้ ใครที่หลงใหลภาพถ่ายเก่าๆ น่าจะชอบห้องนี้ ห้องต่อมาจำลองผังเมืองย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีภาพถ่ายเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านกาลเวลา
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ตอยู่ที่ห้องจัดแสดงเครื่องประดับโบราณ ซึ่งไม่ได้แค่จัดแสดงเครื่องประดับแต่ละชิ้นที่ชาวเพอรานากันนิยมใช้ในการแต่งกาย แต่ยังมีการฉายวิดิทัศน์ให้เห็นขั้นตอนการผลิตเครื่องประดับด้วยฝีมือช่างโบราณ เห็นความวิจิตรบรรจงของลวดลาย ความประณีตในแต่ละขั้นตอนการผลิต และยังมีการจำลองโต๊ะทำงาน อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ของช่างทองโบราณซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน
นอกจากเครื่องประดับ ยังมีห้องจัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเพอรานากันในแต่ละยุค สีสันลวดลายของแพรพรรณที่จัดแสดงทำให้ห้องนี้ดูมีชีวิตชีวา เหมาะกับคุณผู้หญิงที่ชอบของสวยๆงามๆ
ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพความเป็นอยู่ของชาวเพอรานากัน แต่พิพิธภัณฑ์ยังบอกเล่าถึงความเชื่อและประเพณี โดยจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีถือศีลกินผักของชาวภูเก็ต การตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้า ซึ่งมีรายละเอียด มีนัยยะแฝงถึงความมุ่งหวังที่จะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทั้งสิ้น
พิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ตมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก เดินชมได้สะดวก แอร์เย็นสบาย เพลิดเพลินไปกับสาระที่แม้จะเป็นเรื่องเก่าเรื่องโบราณแต่ไม่รู้สึกน่าเบื่อเลย แถมยังมีมุมสวยๆ ให้แวะถ่ายภาพได้ตลอดการเดินชม นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์แล้ว ภายในอาคารยังมีทั้งร้านอาหารพื้นเมือง “ครัวย่าหยา” ร้านกาแฟน่ารักๆ “Piñana” ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าพื้นเมืองและของที่ระลึก รวมทั้งมีสตูดิโอถ่ายภาพ สำหรับใครที่อยากแปลงกายเป็นหนุ่มสาวบาบ๋าย่าหยา หรืออยากสวมใส่ชุดพื้นเมืองสวยๆ ไปถ่ายรูประหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์ ก็มีบริการให้เช่าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอีกด้วย หรือหากอยากได้เครื่องประดับเพชรทองสไตล์เพอรานากันเก็บไว้แต่งตัวหรือเป็นของสะสมก็สามารถเลือกซื้อได้จากร้านทวีสุวัณณ์ ซึ่งเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องประดับสไตล์เพอรานากัน
พิพิธภัณฑ์เพอรานากันภูเก็ต ตั้งอยู่ที่โครงการเดอะการ์เด้น ถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง ตรงข้ามโฮมโปรถลาง เปิดบริการทุกวันเวลา 9.00-18.00 น.
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรเข้าชม และข้อมูลต่างๆ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 076 313 556
หรือ ติดตามข่าวสารได้จาก https://www.facebook.com/peranakanphuketmuseum/