ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก

ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก-2

ในวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2560 นี้ ภูเก็ตกำลังจะมีการจัดงานสำคัญระดับนานาชาติขึ้นอีกครั้ง นั่นคือ การประชุม 1st Gastronomy International Symposium ซึ่งเป็นการประชุมสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก สืบเนื่องจากการที่จังหวัดภูเก็ตได้รับการรับรองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ Creative City of Gastronomy นับเป็นเมืองแรกในแถบอาเซียน เราได้พูดคุยกับ นายแพทย์โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และนายกสมาคมเพอรานากันภูเก็ต บุคคลหนึ่งในทีมงานที่ผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตได้รับรางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมด้านอาหารของท้องถิ่นเรา เป็นเรื่องราวที่ชาวภูเก็ต ชาวไทย ควรได้ร่วมกันภาคภูมิใจ และร่วมกันสืบสานต่อไปในอนาคต

ความเป็นมาของการที่จังหวัดภูเก็ตเสนอตัวเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก

เริ่มต้นราวปี พ.ศ.2555 ทางกระทรวงวัฒนธรรมโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ชักจูงให้ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเมืองในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในด้านอาหาร หรือ Creative City of Gastronomy โครงการนี้ยูเนสโกได้นำเสนอมาประมาณ 10 ปีแล้ว ในช่วงนั้นจังหวัดภูเก็ตได้รับการผลักดัน ซึ่งเราก็รู้สึกยินดีและได้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาวิจัย แต่ปรากฏว่าในปีถัดมายูเนสโกได้ชะลอโปรแกรม เนื่องจากปัญหาภายในยูเนสโกเอง กว่าที่จะได้นำเสนออีกครั้งก็ในปี พ.ศ.2558 ทางทีมงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อกรอกใน Application Online ของยูเนสโก เราได้ไปนำเสนอที่สำนักงานเลขาธิการของยูเนสโกประจำประเทศไทย ที่กระทรวงศึกษาธิการ ทางกระทรวงก็ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเนื้อหาที่เรานำเสนอกับยูเนสโกก็ผ่านกรอบไปในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 จากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 ก็มีหนังสือจากเลขาธิการยูเนสโก ส่งมาถึงนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา ว่าอนุมัติให้ภูเก็ตเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ประเภท ของเมืองสร้างสรรค์ที่ยูเนสโกได้ประกาศ เช่น บางเมืองเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการอ่านการเขียนหรือด้านวรรณกรรม เช่น เมืองเมลเบิร์นของประเทศออสเตรเลีย บางเมืองก็เป็นเมืองแห่งดีไซน์ เช่น เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีเมืองที่มีการประกาศไป 116 เมืองทั่วโลก ในด้าน Gastronomy หรือด้านอาหารมีอยู่แค่ 18 เมืองเท่านั้น ถือว่าภูเก็ตเป็น 1 ใน 18 เมืองที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

หลักเกณฑ์ที่ทำให้เราผ่านการรับรองคืออะไร

การที่จะได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ต้องมีหลายปัจจัยแห่งความพร้อม ปัจจัยแห่งความพร้อมหลักๆ คือเราต้องรู้ก่อนว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของเรา ซึ่งก็คือสิ่งที่เรามีอยู่ที่เป็นอาหารประจำท้องถิ่นทั้งหลาย ภูเก็ตเราเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม เรามีอาหารหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย อาหารจีนปนไทย อาหารผสมของมลายู อาหารของชาวมุสลิม ฮินดู รวมทั้งอาหารที่เข้ามากับกลุ่มชาวต่างชาติที่มาอาศัย อาหารหลายๆ อย่างมีชื่อเสียงในภูเก็ตของเรา เช่น อาหารยุโรป อาหารอินเดีย เหล่านี้เข้าข่ายการเป็น Traditional Food ในภูเก็ต ในปัจจัยต่อมาคือเราได้นำ Traditional Food หรือความรู้เหล่านี้มาขยายให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่หรือไม่ ก็ปรากฏว่าไม่ว่าจะเป็นร้านขายของฝากที่พยายามทำกล่องผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปทรงของอาคารย่านเมืองเก่า ภูเก็ต หรือนำอาหารที่เป็น Traditional Food ไปใส่บรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจเพื่อขายให้นักท่องเที่ยว หรือการจัด Catering ในกลุ่มโรงแรมหรือออแกไนเซอร์ที่จัดงานอีเว้นท์ต่างๆ ก็นำอาหารท้องถิ่นไปนำเสนอ อาหารท้องถิ่นหลายอย่างถูกนำเสนอในภัตตาคาร หรือโรงแรมระดับ 5 ดาว มีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ประเด็นต่อมา ทางคณะกรรมการจะถามว่าเรามีผลงานทางด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก็ปรากฏว่าวิทยาลัยในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นของเราก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาหารอยู่หลายเรื่อง รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับวัตถุดิบทางอาหารของเราด้วย ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างสังคมและธรรมชาติอย่างยั่งยืน เราก็พบว่าภูเก็ตเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและหาที่อื่นไม่ได้ เช่น จักจั่นทะเล นมแพะ หรือแม้แต่อาหารทะเลต่างๆ ในภูเก็ต ถ้าเราอนุรักษ์ดีๆ เราก็ยังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและพร้อมเป็นแหล่งอาหารให้กับเราได้อย่างเช่น สับปะรดภูเก็ต ก็เป็นพืช GI ของภูเก็ต สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นทุนทางธรรมชาติ เรายังมีทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำอาหารไปเซ่นไหว้ บวงสรวง หรือประกอบในประเพณี ต่างๆ เช่น พิธีแต่งงานก็มีอาหารมงคล สะท้อนให้เห็นว่าอาหารของคนภูเก็ตถูกหล่อหลอมไปกับวิถีชีวิตของคนภูเก็ต สิ่งเหล่านี้ทำให้ภูเก็ตมีเสน่ห์ทางด้านวัฒนธรรมอาหาร และยังมีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดในเชิงธุรกิจ ขยายเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันคณะกรรมการยูเนสโกก็มองเห็นว่าเราได้นำเสนอโครงการที่จะทำเพื่อยกระดับความรู้ด้านอาหารของเรา เราได้นำเสนอโครงการต่างๆ เช่น Chef Charity ซึ่งก็ได้จัดงานไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับจัดการประชุม 1st Gastronomy International Symposium 2017 รวมทั้งทำโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมความเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งทางคณะกรรมการจะมีการประเมินทุก 4 ปี เราจึงต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 1st Gastronomy International Symposium ในวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคมนี้ ก็จะเป็นกิจกรรมที่โลกได้รับรู้ความเคลื่อนไหวว่าภูเก็ตเราประกาศเปิดตัวเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกแล้ว

การที่เราได้รับการรับรองจากยูเนสโกในด้านนี้ จะส่งผลดีกับจังหวัดภูเก็ตอย่างไร

ผลดีเบื้องต้น คือภาพลักษณ์ของภูเก็ตจะกลายเป็นครัวโลกอย่างแท้จริง จากการที่ยูเนสโกให้เครดิตเรา ประเด็นสำคัญคือเราจะนำภาพลักษณ์เหล่านี้ไปทำให้เกิดการกินดีอยู่ดี เพิ่มศักยภาพของคนในท้องถิ่นได้อย่างไร ผลตอบรับที่จะเกิดเป็นรูปธรรมเลยสำหรับภูเก็ตมี 2 ด้าน หนึ่ง คือเราเป็นเมืองที่ทำมาหากินด้านการท่องเที่ยว ฉะนั้นเราต้องผสมผสานเรื่องอาหารเข้าไปในวงจรธุรกิจการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น เราต้องทำ Food Tourism ต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยว่าจะยกระดับ Food Tourism ให้เมืองของเราอย่างไร ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนผลักดันจากทั้งจังหวัด ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ลำดับขั้นต่อไปที่ใหญ่กว่าการเป็น Food Tourism คือ Food Industry ซึ่งภูเก็ตเรามีโรงงานอาหารอยู่ไม่น้อย เช่น โรงงานเส้นหมี่ โรงงานผลิตซอสถั่วเหลือง ซึ่งถ้าเราวางแผนต่อยอดดีๆ สิ่งเหล่านี้จะสร้างงาน สร้างรายได้มหาศาลให้คนในท้องถิ่น

ชาวภูเก็ตจะมีส่วนร่วมอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

บริบทการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร คือไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราต้องไม่ทิ้งรากฐานทางสังคมดั้งเดิมของเรา คนภูเก็ตแค่ร่วมมือกันอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณี สืบสานอาหารดั้งเดิมในภูเก็ตไว้ให้ได้ รวมทั้งส่งผ่านสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปสู่ลูกหลาน ให้อาหารท้องถิ่นยังคงความนิยมในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ในขณะที่มีอาหารชาติอื่นๆ เข้ามาผสมปะปนในบ้านเรามากขึ้น เราไม่ปิดกั้น แต่ควรให้ลูกหลานคนภูเก็ตได้รู้จักรสชาติดั้งเดิมของอาหารท้องถิ่น ถ้าเราขาดการสืบสานค่านิยมทางอาหาร ไม่มีการส่งต่อเราจะไม่สามารถคงความเป็น Gastronomy ของเราไว้ได้ อยากให้คนภูเก็ตอย่างน้อยๆ ลองกลับไปหาคนเฒ่าคนแก่ในบ้านของตัวเอง ไปไต่ถาม ไปชิม ไปเรียนรู้ฝึกฝนการปรุงอาหารตามสูตรในครอบครัวของเรา หาอัตลักษณ์ของตัวเองให้ได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.