หากเอ่ยชื่อ ส้มควาย หลายคนอาจจะนึกสงสัย เอ๊ะ! ผลอะไร ทำไมชื่อคล้ายส้มแขก ส้มควายเป็นพืชพื้นถิ่นที่พบมากในตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นพืชคู่บ้าน คู่จาน คู่ครัว ของชาวบ้านกมลา ส้มควายยังเป็นมากกว่าไม้ประจำบ้าน แต่เป็นตัวสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นสายพันธุ์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านกมลามาช้านาน
ส้มควาย ใครๆ มักคิดว่าก็คือส้มแขก แต่ที่จริงแล้ว ส้มควายกับส้มแขกเป็นพืชคนละสายพันธุ์ ส้มควายต่างจากส้มแขก คือ ส้มควายจะมีลักษณะผลใหญ่กว่า เนื้อเยอะกว่า ส้มแขกลูกเล็กผลเป็นร่องชัดกว่า ขั้วมีจุกหรือกลีบเลี้ยงคล้ายมังคุด รสชาติเปรี้ยวต่างกัน ส้มควายจะมีรสเปรี้ยวแหลมกว่าส้มแขก
ภาพชาวบ้านกมลาตากส้มควายหน้าบ้าน เป็นภาพของวิถีชีวิตที่เห็นได้อย่างชินตา เพราะที่นี่คือแหล่งผลิตส้มควายตากแห้งคุณภาพดีเป็นที่เลื่องลือมาแต่ไหนแต่ไร ส้มควายคือวัตถุดิบสำคัญของแม่ครัวชาวภูเก็ตรุ่นลายคราม สำหรับปรุงแกงส้ม ต้มยำ หรือต้มส้ม ให้ได้รสจี๊ดถึงใจ ก็เพราะส้มควายตากแห้งสีน้ำตาลไหม้นี่แหละที่สร้างรสเปรี้ยวกลมกล่อมแบบที่มะนาวก็ทำไม่ได้ มะขามก็ยังไม่โดน ส้มควายตากแห้งบ้านกมลาเป็นที่ยอมรับว่าเนื้อส้มควายแห้งดี สีสวย รสเปรี้ยวแบบถึงใจเก็บไว้ใช้ได้นาน
ณ วันนี้ ส้มควายกมลา ไม่ได้เป็นเพียงน้องนางบ้านนาที่อยู่แต่ในครัว ส้มควายกมลาถูกหยิบยกมาผัดแป้งแต่งตัวให้สดใสพร้อมส่งออกสู่เวทีโลก โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา คนพื้นถิ่นกมลาที่รวมตัวกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในชุมชน ก๊ะลัดดา คาวิจิตร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา เล่าถึงเส้นทางของส้มควายที่ถูกต่อยอดแตกไลน์สร้างความภูมิใจให้สมาชิกในชุมชนจนถึงทุกวันนี้ว่า “ชาวบ้านกมลาปลูกส้มควายกันแทบทุกบ้าน คนเฒ่าคนแก่ก็เห็นต้นส้มควายในหมู่บ้านมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ต้นส้มควายบางต้นอายุเกิน 100 ปี เมื่อเทียบเคียงกับอายุของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ตามป่าเชิงเขาก็มีต้นส้มควายให้เห็นไปทั่ว จริงๆ แล้วส้มควายเป็นพืชที่พบได้ในจังหวัดแถบชายฝั่งอันดามัน แต่มีมากจนเป็นของขึ้นชื่อแห่งบ้านกมลา”
สำหรับที่มาของชื่อ “ส้มควาย” นั้น ก๊ะลัดดาสันนิษฐานว่าด้วยความที่เป็นผลไม้มีรสเปรี้ยวลูกโต คนใต้จึงเรียกไม้ผลรสเปรี้ยวที่มีขนาดใหญ่หนักมือนี้ว่า ส้มควาย (คนใต้มักเปรียบเปรยสิ่งที่มีขนาดใหญ่ว่า “ใหญ่เท่าควาย”) อีกทั้งบ้านกมลาตั้งแต่อดีตจะเป็นทุ่งนาสีทอง ต้นส้มควายจะขึ้นตามหัวไร่ปลายนาให้ร่มเงา ควายจึงมาอาศัยนอนหลบแดดใต้ต้นไม้นี้เป็นภาพชินตา เวลาจะไปเก็บผลมันมาทำอาหาร ก็ออกปากว่า “ไปเก็บส้มใต้ต้นที่ควายนอนอยู่นั้นมาทีต๊ะ” นี่จึงอาจเป็นที่มาของชื่อ ส้มควายก็เป็นได้
ส้มควายเป็นพืชที่ออกลูกปีละครั้ง ช่วงเดือนธันวาคมจะเริ่มออกดอก เดือนมกราคม – มีนาคมจะออกผลให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ และจะค่อยๆ สุกจนร่วงหล่นหมดต้นในเดือนเมษายน ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีถนอมอาหารเพื่อเก็บส้มควายไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี วิธีที่ง่ายที่สุดคือการตากแห้ง โดยนำผลสดมาฝานบางๆ นำไปตากแดดจนแห้งดีและมีสีสวย เก็บไว้ใช้ทำอาหาร เหลือจากนั้นก็ส่งขายร้านของชำในตัวเมือง หรือบางครั้งก็มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงในหมู่บ้าน
“ปัจจุบันด้วยปริมาณส้มควายผลสดที่มีมากและกลุ่มของเราเล็งเห็นว่าส้มควายทำประโยชน์ได้อีกเยอะ จึงได้ช่วยกันคิดหาวิธีแปรรูปส้มควายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2553 เราลองเอาส้มควายมาทดลองทำนั่นทำนี่ พร้อมๆ กับการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนทั้งด้านความรู้และงบประมาณ มีนักวิชาการเข้ามาช่วยทำการทดลอง
ประมาณปี พ.ศ.2555 เราก็ได้ส้มควายแช่อิ่มออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม มีแบรนด์ มีบรรจุภัณฑ์ มีการทำการตลาด หลังจากนั้นก็มี ส้มควายกวน และส้มควายสามรส ตามมา สมัยนั้นยังไม่มี Facebook ยังไม่มี Line ยังไม่มีการขายออนไลน์ เราต้องไปออกบูธตามงาน OTOP ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ เพื่อโปรโมทส้มควายให้เป็นที่รู้จัก
เชื่อไหมว่า เราไปออกบูธช่วงแรกๆ ยังไม่มีใครรู้จักส้มควายเลย เป็นของแปลกที่คนภาคอื่นๆ เขาไม่เคยเห็น เราพยายามหาข้อมูลส้มควายช่วงแรกในพจนานุกรมยังไม่มีคำนี้ เพราะมันเป็นพืชพื้นถิ่น แม้คนเฒ่าคนแก่หมอยาโบราณต่างรู้ดีว่าส้มควายนั้นมีสรรพคุณทางยาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากยันใบแต่เราไม่มีงานวิจัยมารองรับ
จนกระทั่งมีมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เข้ามาช่วยเรื่องงานวิจัย สนับสนุนข้อมูลวิชาการ ข้อมูลด้านโภชนาการ ช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เราได้รู้ว่าส้มควาย หรือ Garcinia เป็นพืชสารพัดประโยชน์ ต่างชาตินิยมรับประทาน เพราะมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งช่วยการระบาย ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดเบาหวาน มีวิตามินซีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเผาผลาญไขมัน ให้พลังงานสูง
จึงเป็นที่มาให้เราคิดค้นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชาส้มควาย ภายใต้แบรนด์ Gaciara เป็นเครื่องดื่มชาสำเร็จรูปบรรจุซองพร้อมชง มีหลายกลิ่นให้เลือก ทั้งชาส้มควายกลิ่นดั้งเดิม ชาส้มควายผสมดอกอัญชัน ชาส้มควายผสมดอกกุหลาบ ชาส้มควายผสมขิง ชาส้มควายผสมดอกเก๊กฮวย และยังต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มส้มควายชนิดผงชง บรรจุซองสะดวกในการพกพา เพียงเทใส่น้ำ ได้ทั้งน้ำร้อนก็เป็นเครื่องดื่มอุ่นๆ ช่วยให้ชุ่มคอ หรือจะผสมน้ำเย็นก็ช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี
ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมา นอกเหนือจากในส่วนของอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยความที่ส้มควายเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ผลของมันมีวิตามินซีสูง เรานำเปลือกและเมล็ดมาป่นทำเป็นผลิตภัณฑ์บอดี้สครับทดลองวางจำหน่าย เชื่อว่าในอนาคตจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้อีกหลายชนิด” ก๊ะลัดดาเล่าถึงผลิตภัณฑ์ส้มควายจากต้นสายสู่ปลายทางที่แตกยอด
ส้มควาย สายพันธุ์แห่งวิถีชีวิตบ้านกมลา ไม่เพียงมีมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศสร้างรายได้ใช้ชาวบ้านกมลาเท่านั้น หากแต่ส้มควายยังกลายเป็นหมุดหมายแห่งการท่องเที่ยวชุมชน ที่ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนานำมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชนที่มีเรื่องราวน่าสนใจ
“ทางกลุ่มเราจัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นเส้นทางของส้มควายจากต้นสู่จานอาหาร เราจะพานักท่องเที่ยวไปดูต้นส้มควายโบราณอายุกว่า 100 ปี ได้ร่วมกันปลูกต้นส้มควาย ได้เก็บผลส้มควายมาลองปรุงอาหารจานเด็ด เช่น แกงส้มปลาใส่ส้มควาย และ ยำส้มควาย ในสไตล์ “ยำบ้านงาน” เป็นยำแบบของชาวบ้านกมลาที่ใช้เลี้ยงแขกในงานสำคัญต่างๆ ซึ่งจะใช้เนื้อส้มควายทั้งผลสดและเนื้อส้มควายดอง มาคลุกเคล้ากับเครื่องยำที่มีทั้งมะพร้าวคั่ว ปลาฉิ้งฉ้าง ถั่วฝักยาว กะปิ เป็นยำรสชาติแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ได้ลองทำอาหารแล้วก็จะได้ชิมจนอิ่มท้อง นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมการแปรรูปส้มควายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาสามารถซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านได้อีกด้วย”
“ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา หลายๆ คนต้องตกงานขาดรายได้ สมาชิกของเราหลายคนก็เช่นกัน บางคนทำงานโรงแรมถูกเลิกจ้าง เราก็ได้ส้มควายนี่แหละที่ช่วยพาให้เราผ่านช่วงวิกฤตินั้นมาได้ เราพยายามดึงสมาชิกในชุมชนเข้ามาช่วยกันทำผลิตภัณฑ์ ช่วยกันพัฒนาช่องทางการตลาด คนหนุ่มคนสาวในหมู่บ้านได้เข้ามาช่วยเรื่องการขายออนไลน์ มาช่วย Live ขายของ ช่วยถ่ายรูปช่วยโพสต์ขายทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ผลิตภัณฑ์ส้มควายเป็นที่รู้จักมากขึ้น เรามีออเดอร์หลายช่องทางเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นเราได้สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ให้เขาได้รู้จักส้มควาย ให้เขาได้เห็นประโยชน์ของส้มควาย ว่ามันเป็นมากกว่าต้นไม้ที่ปลูกในบ้าน และคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะช่วยกันสานต่อ ช่วยกันพัฒนาให้ส้มควายเป็นสายพันธุ์ที่อยู่คู่ตำบลกมลา อยู่คู่จังหวัดภูเก็ตต่อไป”
“เพื่อให้ส้มควายกมลา เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทางหน่วยงานราชการได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกต้นส้มควายเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ส้มควายเป็นอีกหนึ่งพืชประจำถิ่นของจังหวัด และเรากำลังยื่นขอ GI ส้มควายภูเก็ต หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อให้ส้มควายเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต นี่ไม่ใช่ความสำเร็จของกลุ่มเราหรือของชาวบ้านกมลาเพียงเท่านั้น แต่เป็นความภูมิใจของจังหวัดภูเก็ต ที่เรามีส้มควายเป็นพืชสารพัดประโยชน์และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก” ก๊ะลัดดาเล่าถึงหมุดหมายที่หวังด้วยความภาคภูมิใจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สนใจผลิตภัณฑ์ / ท่องเที่ยวชุมชน :
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา
33/5 หมู่ที่ 5 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
โทร 0935766401 , 0819680877
Facebook : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา : Bang Whaan Phatthana Housewives Farmers Group Community Enterprise