เส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ถลาง

มาเที่ยวภูเก็ต เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยแวะสักการะอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูเก็ต ลงจากเครื่องบิน หรือผ่านประตูเมืองภูเก็ตเข้ามาแล้วก็มักจะแวะกราบไหว้ท่านทั้งสองที่สี่แยกบ้านท่าเรือเพื่อเป็นสิริมงคล หรือแม้แต่ชาวภูเก็ตเอง เมื่อสัญจรผ่านทางอนุสาวรีย์ทุกครั้งก็ต้องยกมือไหว้ ย่าจัน – ย่ามุก ของชาวภูเก็ต อยู่เป็นประจำ เราอาจจะเคยเรียนรู้วีรกรรมของท่านทั้งสองจากวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียน แต่เรื่องราวของสองวีรสตรีและบรรพชนผู้กล้าชาวเมืองถลาง ยังมีรายละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ แฝงอยู่ใน “แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ถลาง” ซึ่งทางเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี ได้ปักหมุดทำแผนที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไว้ แต่ละที่ไม่ไกลจากกันมากนัก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมและร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองถลางด้วยความเพลิดเพลิน

รนย่าจัน

หรือบ้านจำลองท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ลักษณะเป็นบ้านเจ้าเมืองเรือนไทยภาคใต้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง บนที่ดินซึ่งเคยเป็น รน หรือ เรือน ของท่านผู้หญิงจัน หรือท้าวเทพกระษัตรี ตามหลักฐานประวัติศาตร์ที่ดินบริเวณนี้เคยเป็นจวนของจอมร้างบ้านเคียน บิดาของท่านผู้หญิงจัน ซึ่งภายหลังมีผู้บริจาคที่ดินให้สร้างบ้านจำลองหลังนี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ภายในเรือนมีประติมากรรมท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ฝีมือช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ใบหน้าของท่านมาจากการประมวลใบหน้าของลูกหลานผู้สืบสายตระกูลรวมทั้งรูปปั้นและอนุสาวรีย์ของท่าน ทั้งงามสง่าและน่าเกรงขามอยู่ในที รนย่าจันตั้งอยู่หลังองค์การโทรศัพท์ถลาง ม.1 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง

นบนางดัก

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากรนย่าจันมากนัก จุดนี้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ คือเคยเป็นฝายกั้นน้ำที่ชาวบ้านถลางช่วยกันสร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นการไหลของน้ำในคลองบางใหญ่ให้เหือดแห้ง และผันน้ำไปทางอื่น เพื่อตัดเส้นทางการเดินทัพทางเรือของพม่า ตัดการขนส่งเสบียงและอาวุธของพม่า ขัดขวางทัพพม่าไม่ให้บุกเข้ามาตีเมืองถลางได้โดยสะดวก เป็นหนี่งในกลยุทธ์อันชาญฉลาดของท่านผู้หญิงจันและแม่ทัพเมืองถลาง ในการรบกับพม่าด้วยกำลังพลอันน้อยนิด ในขณะที่ฝั่งพม่าได้เปรียบทั้งกำลังพลและอาวุธมากกว่า ปัจจุบันนบนางดักไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็นเนื่องจากมีการขุดลอกคลองและสร้างเขื่อน แต่ยังยืนยันตำแหน่งที่ตั้งเทียบเคียงกับหลักฐานที่บันทึกไว้ได้

วัดม่วงโกมารภัจจ์

เชื่อกันว่าวัดม่วงโกมารภัจจ์เคยเป็นวัดก่อนสมัยท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ก่อนสงครามศึกถลาง พ.ศ.2328 ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมทหาร ตระเตรียมไพร่พล ฝึกการเคี่ยวน้ำมัน ซ้อมรำกริช ผสมดินปืน มีบ่อน้ำ 2 บ่อ แช่ว่านยาสมุนไพรให้ทหารอาบเพื่ออยู่ยงคงกระพัน เป็นวัดเก่าแก่ที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ภายหลังมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ได้บูรณะวัดเป็นสวนสังสรรค์ธรรมวัดม่วงโกมารภัจจ์ และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบวงสรวงไหว้ดวงวิญญาณบรรพชนผู้กล้าเมืองถลาง หรือ พิธีไหว้ผีหลาง ได้มีการสร้าง พระพุทธมณีศรีถลาง เป็นพระพุทธรูปดีบุกปางคันธารราช ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง และรูปหล่อท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทรท่านั่งประดิษฐานในศาลาจตุรมุข ที่นี่มีเกร็ดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น มีเซียมซีประวัติศาสตร์ของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ซึ่งมีที่นี่ที่เดียว บรรยากาศรอบๆ สงบร่มรื่นและดูขลัง

สุสานแม่หม่าเสี้ย

ตั้งอยู่ในที่ดินส่วนบุคคล ในหมู่ 3 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ห่างจากวัดม่วงเพียง 250 เมตร ทางเข้ามีป้ายบอกทาง เลี้ยวเข้าซอยบ้านเหรียงซอย 5 ตรงไปเล็กน้อยจะเจอทางโค้งให้เลี้ยวขวาเข้าไปในสวน จะพบสุสานแม่หม่าเสี้ย ซึ่งเป็นมารดาของท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

ประติมากรรม 9 วีรชนเมืองถลาง

ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุสรณ์สถานเมืองถลางซึ่งเคยเป็นสมรภูมิในสงครามระหว่างทัพพม่ากับชาวเมืองถลางนำทัพโดยท่านผู้หญิงจันและคุณมุก ในปี พ.ศ. 2328 เป็นที่ราบพื้นที่ประมาณ 96 ไร่ เดิมเป็นทุ่งนา เรียกว่า นาหลวง บ้างเรียก โคกพม่า เพราะเป็นจุดที่พม่ามาตั้งค่ายปิดล้อมอยู่นานแรมเดือน และภายหลังทหารพม่าก็ได้ล่าถอยทัพกลับไป เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2328 วันนี้ของทุกปีจึงนับเป็นวันถลางชนะศึก และในพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้จึงมีการดำริสร้างประติมากรรม 9 วีรชนเมืองถลาง ในท่าทางถือดาบพร้อมปืนใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย ท้าวเทพกระษัตรี, ท้าวศรีสุนทร, พระยาถลางทองพูน, พระยาถลางเทียน, แม่ปราง, เจ้าคุณมารดาทอง, พระยกบัตรจุ้ย, มหาดเล็กเนียม, และทองเพ็ง แต่ละท่านล้วนมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ถลางซึ่งสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่นี่

วัดพระทอง

หรือวัดพระผุด เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปครึ่งองค์ หรือ พระผุด มีประวัติเรื่องเล่าที่น่าสนใจ รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ของวัดซึ่งจัดแสดงสิ่งของเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งที่เมืองถลางเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2332 ทหารพม่าพยายามจะขุดเอาพระผุดกลับพม่า แต่เมื่อขุดลงไปก็เจอมดคันพิษรุมกัดจนต้องถอยหนีไป พระผุดจึงอยู่คู่เมืองถลางจนถึงปัจจุบัน

วัดพระนางสร้าง

เป็นวัดเก่าแก่ประจำเมืองถลางตั้งแต่สมัยอยุธยา บริเวณหลังวัดพระนางสร้างเคยเป็นฐานที่ตั้งรับข้าศึกพม่าเมื่อปี พ.ศ.2328 อุโบสถของวัดซึ่งเป็นสีขาว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2542 ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น 4 องค์ เป็นพระปางมาวิชัย 3 องค์ ปางไสยาสน์ 1 องค์ เมื่อปี พ.ศ.2526 ได้มีการเจาะพระพุทธรูป 3 องค์ เจอพระพักตร์พระพุทธรูปทำจากดีบุกอยู่ในพระอุทรหรือในท้องของพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าพระในพุง วัดพระนางสร้างมีเกร็ดเรื่องเล่าหลายเรื่องที่น่าสนใจที่เล่าต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เช่น ตำนานพระนางเลือดขาว ลายแทงสมบัติ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวถลางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
     

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.