Climate change, Carbon Footprint, Zero Waste คำเหล่านี้ผ่านตาเราบ่อยขึ้น พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ใกล้ตัวเราเข้าทุกวัน คงปฎิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนต่างก็มีส่วนเป็นต้นตอของปัญหานี้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราทุกคนจึงต้องมีส่วนในการร่วมมือกันป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาโลกรวนนี้ด้วยกัน ภูเก็ตแม้เป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ก็มีความตื่นตัวกับปัญหาโลกรวน มีหลายภาคส่วน เช่นภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มต้นจุดประกาย สร้างความตระหนัก และลงมือทำ มุ่งหวังจะปลุกให้เราทุกคนตื่นรู้ และหันมาใส่ใจกับการรักษาโลกของเราให้น่าอยู่ไปนานๆ โดยเฉพาะภูเก็ตที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อะไรที่จะทำให้เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้พัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโจทย์ที่เราต้องหาคำตอบร่วมกัน
คุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม
มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน
ชื่อของมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน อาจจะยังใหม่และไม่คุ้นหู แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการลงมือทำโดยภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่อยากจะมีส่วนในการรักษาภูเก็ต และรักษาโลกนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน คุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน อดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เล่าถึงที่มาของมูลนิธิฯ ว่า “หลายปีที่ผ่านมานี้ เรามองเห็นว่า Climate Change มีผลกับการท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งถ้ามองไปถึงสาเหตุ ก็มาจากการใช้ทรัพยากรของเราทุกคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มักจะถูกมองว่ามีส่วนในปัญหาเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การสร้างคาร์บอนไดออกไซด์นั้นไม่มีเขตแดน มันไม่ใช่ว่าใครทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ แล้วจะต้องรับผลนั้นโดยตรง แต่มันส่งผลต่อส่วนรวม ส่งผลต่อเราทุกคน เราจึงต้องช่วยกันดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ เราพบว่าในภูเก็ต สาธารณูปโภคที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ และไม่ใช่หน้าที่ภาครัฐอย่างเดียวที่ต้องมาดูแลเรื่องนี้ มันเป็นหน้าที่ภาคเอกชนด้วย ผู้ประกอบการต้องเข้ามาดูแลด้วย ฉะนั้นการที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ว่าประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ภาครัฐทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ภาคเอกชน ภาคประชาชนต้องทำด้วยกัน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น งานวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวทางยุโรปตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เขาเริ่มมองหาโรงแรมที่มีวิธีจัดการเรื่องคาร์บอน เขามองหาการรับรองว่าโรงแรมนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งบริษัททัวร์หลายบริษัทก็เริ่มมองหาความร่วมมือกับธุรกิจหรือโรงแรมแนว Eco Friendly เทรนด์โลกกำลังไปทางนั้น พวกเราในสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชน จึงต้องกระโดดเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ขับเคลื่อนไม่ใช่แค่ในภูเก็ต แต่ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเริ่มต้นจากภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านของเราก่อน”
สำหรับเป้าหมายของมูลนิธิฯ นั้น คุณภูมิกิตติ์ได้ฉายให้เห็นภาพในอนาคตว่ามูลนิธิฯ วางแนวทางไว้อย่างไรบ้าง “เราให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลักๆ ที่จะต้องขับเคลื่อน
เรื่องแรก เราจะต้องเป็นองค์กรที่สามารถให้การรับรอง หรืออย่างน้อยเป็นองค์กรที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการได้ เนื่องจากการเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง อย่างการจะหาว่าโรงแรมเรามีค่า Carbon Footprint เท่าไหร่นี่ต้นทุนสูงมากนะครับ การประเมินมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมก็มีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน เราต้องการเป็น Certifying Body ที่ช่วยดูแลผู้ประกอบการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในต้นทุนที่ถูกกว่า
เรื่องที่สอง คือเรื่อง Food Waste หรือขยะอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน ในแต่ละวันมีขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์ออกมาจากสถานประกอบการโรงแรมเป็นปริมาณมาก ปัญหา Food waste เราพิจารณาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเราใช้ชื่อโปรเจคต์ว่า Food (Before) Waste มีอาหารส่วนหนึ่งไม่ว่าจากไลน์บุฟเฟ่ต์อาหารเช้าของโรงแรม ที่อาจจะเหลือในแต่ละวัน แต่ไม่สามารถนำกลับเข้าครัวได้ บางส่วนต้องทิ้งไปทั้งๆ ที่ยังรับประทานได้ หรืออาหารบางส่วนเป็นอาหารกระป๋อง หรืออาหารที่ระบุวันหมดอายุ แต่จริงๆ แล้วมันยังไม่เน่าเสีย ยังอยู่ในระยะเวลาที่สามารถบริโภคได้ เราจะทำ MOU กับโรงแรมต่างๆ ให้ส่งอาหารเหล่านี้มาที่ศูนย์ของเราใน 3 อำเภอทั่วจังหวัดภูเก็ต ที่ศูนย์จะเป็นร้านอาหาร ที่นำวัตถุดิบจากโรงแรมต่างๆ มาปรุงใหม่โดยนักศึกษาคหกรรม จำหน่ายในราคาที่ผู้บริโภคเลือกจ่ายเองได้ตามกำลัง เราไม่กำหนดราคาอาหาร และเราไม่แจกฟรี เพราะต้องการให้ร้านอาหารของศูนย์มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้เพื่อความยั่งยืน และวางแผนไว้ว่าอาจจะจัดโปรเจคต์เสริมในการทำ Chef’s Table ที่เป็น Left Over Chef’s Table นำอาหารเหล่านี้มาปรุงเสิร์ฟแบบ Chef’s Table เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดปริมาณขยะอาหารที่ต้องถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ในส่วนของขยะอินทรีย์ซึ่งบางโรงแรมมีกำลังมีระบบจัดการขยะส่วนนี้เขาก็จะนำไปหมักเป็นปุ๋ยเป็นน้ำหมัก ส่วนโรงแรมที่ไม่มีกำลังเราจะรับมาดำเนินการให้ นำมาทำเป็นปุ๋ยส่งต่อให้เกษตรกร ก็จะเป็นการช่วยแยกขยะอินทรีย์ที่จะปะปนไปสู่เตาเผาขยะ ช่วยลดปริมาณขยะที่จะไปโหลดที่เตาเผาขยะไปได้มากเลยทีเดียว ซึ่งถ้าทำได้เราก็อาจจะเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยประชาคม ไม่ใช่ราชการ”
“เรื่องที่สาม ที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ คือการผลักดันให้ภูเก็ต เป็น Green Destination ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้พร้อมๆ กับการชดเชย Carbon Footprint อย่างที่ทราบว่าเราทุกคนต่างสร้าง Carbon Footprint ในกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต มากบ้างน้อยบ้าง การเดินทางมาท่องเที่ยวโดยนั่งเครื่องบินมานี่ก็เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งถ้าเราดูใน Google Flight จะบอกได้เลยว่าเส้นทางที่เราบินมาใช้ไปกี่คาร์บอนตัน การชดเชย Carbon Footprint จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ทั่วโลก ที่เราต้องตระหนักมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้เขาก็จะสนใจหากเราสามารถจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวชดเชย Carbon Footprint โดยการไปปลูกต้นไม้ หรือปลูกหญ้าทะเล เช่น มิสเตอร์จอห์นเดินทางจากลอนดอนมาเที่ยวภูเก็ต เที่ยวบินจากลอนดอนมาภูเก็ตมีค่า Carbon Footprint เท่าไหร่ เราก็มีโปรแกรมท่องเที่ยวให้มิสเตอร์จอห์นเลือกเลย โปรแกรมสีฟ้า ไปปลูกหญ้าทะเล หรือโปรแกรมสีเขียว ไปปลูกต้นไม้ มิสเตอร์จอห์นต้องปลูกต้นไม้กี่ต้นชดเชยค่า Carbon Footprint ก็ว่ากันไป ถ้ามิสเตอร์จอห์นไม่สะดวกไปปลูกเอง จะบริจาคเป็นเงินให้เรานำไปจ้างชาวสวนให้เขาปลูกให้ก็ได้ เจ้าของที่ดินที่มีพื้นที่ว่างสามารถมาเป็นแนวร่วมกับเราได้ โดยอาจจะให้เราเช่าที่ดินของท่านในราคาถูก เพื่อมาปลูกต้นไม้ชดเชยในโปรเจคต์นี้ เป็นการบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน”
“เรื่องที่สี่ เราจะทำเรื่อง Green Finance อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญคือการใช้พลังงานสะอาด ถ้าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรมเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล การติดตั้งโซล่าเซลล์ ผู้ประกอบการบางโรงแรมอาจจะมีความพร้อม บางโรงแรมอยากทำแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน ถ้าเรามี Green Finance หรือ Green Bond ที่อาจจะเป็นการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โฮสเทลหรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาติดตั้งอุปกรณ์พลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการบริหารจัดการธุรกิจในระยะยาวด้วย”
นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม มูลนิธิฯ ยังมีแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านการศึกษา โดยมีแผนงานที่จะส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทักษะภาษาอังกฤษก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น แนวทางทั้งหมดของมูลนิธิฯ ก็เพื่อผลักดันให้ภูเก็ต เป็น Green Destination ภายในปี ค.ศ.2026 โดยการรับรองของ The Global Sustainable Tourism Council ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฎิบัติเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยว “สำหรับการเป็น Green Destination ผมคิดว่าภูเก็ตเราเดินมาครึ่งทางแล้ว ปัจจุบันผู้ประกอบการ ภาคประชาชนเริ่มมีความตระหนักกันมากขึ้น และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง อีกครึ่งทางข้างหน้าอาจจะเป็นเรื่องยาก เราต้องมี Green Mindset ร่วมกัน ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เราต้องเดินไปด้วยกันจึงจะเกิดผลสำเร็จ”
ความหมายของคำว่า “ยั่งยืน” คุณภูมิกิตติ์ให้ความหมายในบทบาทของตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของภูเก็ตว่า “พวกเราพูดคุยกันเสมอว่าเราต้องส่งต่อภูเก็ตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน เพื่อให้ลูกหลานเราทำสิ่งที่ดีกว่าและส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป Phuket is the Happiness for All ภูเก็ตต้องเป็นเมืองที่มีความสุขสำหรับทุกคน นักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ตแล้วแฮปปี้ คนท้องถิ่นก็ต้องแฮปปี้ด้วย ปฎิเสธไม่ได้ว่าเส้นเลือดใหญ่ของภูเก็ตคือการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวก็ต้องพึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นเหรียญอันเดียวกันคนละด้าน มันแยกกันไม่ออก เราจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากตัวเราก่อน เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ถ้าทุกคนทำได้ก็ช่วยโลกได้มหาศาลแล้ว”
คุณอังคณา ธเนศวิเศษกุล
โรงแรมพีชฮิลล์รีสอร์ท
“ลงทุนสูง ไม่คุ้ม เสียเปล่า” อาจเป็นมุมมองของนักธุรกิจหลายๆ คน ที่มีต่อการทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับผู้บริหารท่านนี้ เธอไม่เชื่อเช่นนั้น และใช้เวลาตลอด 20 กว่าปี ในการพิสูจน์ให้เห็นว่า การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นคุ้มค่าอย่างแน่นอน คุณอังคณา ธเนศวิเศษกุล กรรมการผู้จัดการโรงแรมในเครือพีชกรุ๊ปรีสอร์ท ซึ่งประกอบด้วย โรงแรมพีชฮิลล์รีสอร์ท โรงแรมอันดามันคาเนเซียรีสอร์ทแอนด์สปา และโรงแรมพีชบลอสซั่มรีสอร์ท ที่ยึดหยัดในความเชื่อที่ว่า การทำธุรกิจท่องเที่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนไปด้วยกันได้โดยมีเป้าหมายคือความยั่งยืน
“ครอบครัวของเราเริ่มต้นทำธุรกิจโรงแรมเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ดิฉันกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านหลังจากเรียนจบด้านการโรงแรมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยความที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยส่วนตัวอยู่แล้ว เมื่อได้มาบริหารงานโรงแรมพีชฮิลล์เราตั้งใจอยากให้ที่นี่เป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ในการก่อสร้างขยายโรงแรมเราพยายามไม่ตัดต้นไม้เลย มีการออกแบบอาคารตามแนวคิด Green Building คือออกแบบให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึง ในส่วน Public Area ไม่ใช้แอร์คอนดิชั่น เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องพัก เราทำแบบนี้มาตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อนที่ยังไม่ค่อยมีการตื่นตัวเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันเท่าไหร่นัก แขกของเราหลักๆ ในช่วงเวลานั้นจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่ชอบความสงบ ชอบธรรมชาติ ส่วนใหญ่แขกบอกว่าชอบที่นี่เพราะว่าสงบร่มรื่น ต้นไม้เยอะ เป็นความตั้งใจตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจว่าเราไม่อยากทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม”
ไม่เพียงแค่มีความพยายามในจุดเริ่มต้น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณอังคณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการสมัครเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิใบไม้เขียว ซึ่งเป็นหน่วยงานในการสร้างมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการรับรอง The Green Leaf Certificate และ Green Hotel อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรางวัล Travelife Gold Award ซึ่งเป็นรางวัลจากองค์กรท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
“ระบบรับรองมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้มีรายละเอียดในการบริหารจัดการที่เราต้องนำมาปฏิบัติ เช่น เรื่อง Zero Waste การลดขยะ เราทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนโควิด ในส่วนของขยะอินทรีย์ 60-70% ของปริมาณขยะทั้งหมดที่ไปสู่เตาเผาขยะภูเก็ต ก็คือขยะอินทรีย์ ซึ่งโรงแรมกับร้านอาหารเป็นส่วนที่สร้างขยะอินทรีย์เยอะที่สุด เราจึงพยายามบริหารจัดการขยะของเราภายในโรงแรมเพื่อไม่ต้องส่งออกไปเป็นภาระส่วนรวม ขยะอินทรีย์จากห้องครัว จากไลน์บุฟเฟต์ ของทั้ง 3 โรงแรมในเครือเราไม่ทิ้งออกนอกโรงแรม เรานำมาทำเป็นปุ๋ย ทำเป็นน้ำอีเอ็ม ส่งไปใช้ที่สวนของเราเอง โดยมีการชั่งตวงวัดปริมาณ พบว่าบางวันเรามีปริมาณขยะเหล่านี้ถึง 100 กิโลกรัม บางส่วนนำไปเป็นปุ๋ยใส่แปลงพืชผักสวนครัวในโรงแรม และพืชผักเหล่านั้นเราก็นำไปใช้ปรุงอาหารเช้าในไลน์บุฟเฟต์ ขยะส่วนที่รีไซเคิลได้ เราก็มีการคัดแยกขยะซึ่งทำมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีการชั่งน้ำหนักจริงจัง ทำให้ไม่ทราบว่ามันมีมูลค่าเป็นเงินคืนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน การเข้าระบบรับรองมาตรฐานจะบังคับให้เราต้องชั่งปริมาณขยะ ทำให้เห็นว่าขยะที่เราคัดแยกได้ปริมาณเท่านี้ นำไปขายได้เป็นเงินกลับคืนมาเท่าไหร่ การคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกมาจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นมลพิษจากการเผาขยะ และยังเห็นผลตอบแทนเป็นตัวเงินกลับคืนมาด้วย”
“ไม่เพียงแค่การจัดการขยะ ในส่วนของ Zero Waste Water การจัดการน้ำเสีย ทุกโรงแรมมีบ่อบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว แต่บำบัดแล้วก็ทิ้งออกลำรางสาธารณะ ซึ่งอาจจะออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือไหลลงทะเล แต่เรามีแนวคิดว่าทำไมเราต้องทิ้งออกไปข้างนอก น้ำเสียที่บำบัดแล้วเรานำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในโรงแรม 100% สิ่งที่ได้คือ ปกติหน้าแล้งเราต้องซื้อน้ำจากเอกชนหลายคันรถ เพราะน้ำบาดาลและน้ำประปาขาดแคลนอย่างหนัก แต่หลังจากเราเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ เราไม่ทิ้งน้ำออกข้างนอกแต่ปล่อยให้มันไหลซึมผ่านชั้นดินลงไปที่บ่อน้ำ เป็นการหมุนเวียนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ ทำให้น้ำบ่อน้ำในพื้นที่ของเราไม่ขาดแคลนมาก ตัวเลขการซื้อน้ำจากเอกชนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การเก็บตัวเลขจะทำให้เห็นสถิติเหล่านี้ ซึ่งทำให้การบริหารจัดการเห็นผลชัดเจนขึ้น”
“อีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ทำอย่างจริงจัง คือการใช้ Smart Energy ซึ่งโรงแรมเราได้รับรางวัลระดับเอเชียแปซิฟิกมาด้วย เป็นโรงแรมขนาดเล็กที่สามารถประหยัดพลังงานได้มากที่สุด นอกจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้ง Solar Roof ที่เราทำมานานแล้ว โปรเจคต์ที่เราทำสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 20% โดยไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์เลย สิ่งที่เราทำคือการบริหารจัดการ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เช่น เวลาแม่บ้านเข้าไปทำความสะอาดห้องพักควรจะปิดแอร์ปิดไฟ หรือการใช้ผ้าถูพื้นผืนใหญ่ก็จะสิ้นเปลืองกว่าการใช้ผืนเล็ก เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจจะมองข้าม นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่น ที่บอกอัตราการใช้ไฟฟ้าคำนวณค่าไฟ เราได้ทราบว่าช่วงเวลาไหนที่ค่าไฟขึ้นสูง เราก็เลี่ยงกิจกรรมบางอย่างไปทำในช่วงที่อัตราค่าไฟต่ำก็จะช่วยลดค่าไฟได้ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เชคอินด้วยแท็บเล็ตแทนกระดาษ การปรับเปลี่ยนเหล่านี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการได้ไม่น้อยเลย”
ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดผลสำเร็จ คือบุคลากรที่จะต้องเป็นผู้ลงมือทำ หากผู้บริหารมีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ ความสำเร็จก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
“กระบวนการทั้งหมดต้องผลักดันให้พนักงานมีส่วนร่วม การที่เราจะเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และทำจนเกิดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง หัวหน้าแผนกต้องเป็นคนขับเคลื่อน พนักงานต้องเป็นผู้ลงมือทำ 100% โดยเริ่มแรกเราต้องให้ความรู้ มีการอบรม ให้เขาได้เสนอแนะแนวทาง เพราะเขารู้รายละเอียดในการปฎิบัติงานดีที่สุด ผู้บริหารต้องคอยกระตุ้น สร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร ถ้าวัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงแม้จะมีพนักงานใหม่ๆ สลับสับเปลี่ยนเข้ามาเขาจะเข้าใจว่าแนวทางของที่นี่เป็นอย่างไร และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจ”
“ความพยายามทั้งหมดที่เราลงมือทำต่อเนื่องมาตลอด 20 กว่าปีนี้ นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจด้วย คนทั่วไปมักจะมีความคิดว่า ทำ Eco Hotel หรือ Green Hotel ลงทุนสูง แต่ดิฉันลองมาทำด้วยตัวเองพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเลย แต่กลับเป็นการช่วยลดต้นทุนในระยะยาว อย่างการลงทุนทำ Solar Roof ใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็คืนทุนแล้ว หลังจากนั้นมันช่วยลดค่าไฟลงได้ถึง 20% หรือผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น น้ำยาทำความสะอาด ถ้าเราเลือกใช้แบบ Eco Product ราคาอาจจะต่างกับแบบทั่วไปเพียงเล็กน้อย แต่ผลตอบแทนระยะยาวมันดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายแหล่งน้ำ บางเรื่องไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการลงแรงใส่ใจกับรายละเอียดมากขึ้น และผลลัพท์ที่ได้ในระยะยาวมันคุ้มค่ากว่าแน่นอน”
“หาดกะตะกะรนเมื่อสมัยเราเด็กๆ ชายหาดมันขาวมากนะคะ ทรายขาวละเอียดเหมือนแป้งเลย เราได้เห็นกับตาตัวเอง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ชายหาดบ้านเราเปลี่ยนไปมาก ถ้าไม่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องลงมือทำ และทำมาตลอด 20 กว่าปี คำว่ายั่งยืน ในความหมายของดิฉันคือการที่เราโตไปด้วยกัน คนกับธรรมชาติเติบโตไปด้วยกัน ไม่เบียดเบียนกัน ความยั่งยืน คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” นั่นคือความหมายที่ทิ้งท้ายเอาไว้ของผู้บริหารโรงแรมพีชฮิลล์รีสอร์ท
คุณพรหมโรจน์ วิมลกุล
Poonsook Craft
ทิ้งแล้วไปไหน? เส้นทางของขยะ คงเป็นเรื่องที่หลายคนไม่ได้ใส่ใจกันนัก แต่สำหรับ คุณพรหมโรจน์ วิมลกุล หรือคุณอู๋ ผู้ก่อตั้ง Poonsook Craft เขาไม่ปล่อยให้ขยะเป็นสิ่งไร้ค่าที่มีปลายทางคือมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่หยิบจับมันมาสร้างมูลค่าโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป ปลุกปั้นให้ พูนสุขคราฟท์ เป็นวิสาหกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้ารีไซเคิลสร้างรายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณอู๋เล่าถึงพื้นเพของตัวเองว่า เขาเกิดที่ภูเก็ต จบการศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่วงหนึ่งได้ไปใช้ชีวิตและเรียนหนังสือที่ประเทศสิงคโปร์และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่ค่อนข้างดี ทำให้เขาเห็นมุมมองด้านการจัดการขยะมาจากประเทศเหล่านั้น เมื่อกลับมาอยู่ที่ภูเก็ต หลังจากทำงานประจำระยะหนึ่ง ก็ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ลองทำถุงผ้าออกมาขาย เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์พูนสุขคราฟท์ ซึ่งช่วงแรกยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก พอดีกับเป็นช่วงล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด เขามองเห็นว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นจากการบริโภคอาหารเดลิเวอรี่ คุณอู๋ได้พูดคุยกับภรรยาซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มีโปรเจคต์เกี่ยวกับ Sustainable ได้ให้คำปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะ ก็เลยเกิดไอเดียที่จะนำขยะพลาสติกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์พูนสุขคราฟท์
“ช่วงนั้นกระแสการเล่นเซิร์ฟสเก็ตกำลังฮิตมากๆ ก็เลยลองเอาฝาขวดพลาสติกมาทำเป็นแผ่นเซิร์ฟสเก็ต ผลตอบรับดีพอสมควรเลย ททท.ชวนไปจัดอีเว้นท์นำฝาขวดพลาสติกที่เก็บได้จากขยะชายหาดมาทำเป็นแผ่นเซิร์ฟสเก็ตก็พบว่าสามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยที่เราใช้ความรู้ Industrial Design ทำเครื่องจักรฉีดพลาสติกขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลองผิดลองถูก คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เช่น เครื่องประดับ พวงกุญแจ จานรองแก้ว เหรียญรางวัลงานวิ่ง กระถางต้นไม้ จานสี จนเริ่มมีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ สั่งออเดอร์ของที่ระลึกเข้ามามากขึ้น เราเริ่มทำโปรเจคต์ มีการตั้งจุดรับฝาขวดพลาสติก 20 จุดกระจายทั่วทั้งเกาะภูเก็ต โดยเฉพาะตามห้างและแหล่งชุมชน ค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต และทดลองอะไรใหม่ๆ มาตลอด จนถึงตอนนี้แบรนด์พูนสุขคราฟท์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
“ผลิตภัณฑ์ของพูนสุขคราฟท์เน้นงานผลิตตามออเดอร์เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่องค์กรต่างๆ ที่จัดงานอีเว้นท์ จะมาจ้างให้เราออกแบบและผลิตของที่ระลึก เช่น เหรียญงานวิ่ง หรือพวงกุญแจ ซึ่งทำจากฝาขวดพลาสติกที่เราเก็บรวบรวมมาได้ หรืออย่างแผ่นไวนิลเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปกำจัดได้ ซาเล้งไม่รับซื้อ เตาเผาไม่รับเผา เราก็เอามาทำเป็นกระเป๋า โดยมีข้อจำกัดคือต้องเป็นงานที่มีหน่วยงานสั่งผลิต เช่น ในงาน Phuket Expo ที่ผ่านมา มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ติดป้ายไวนิลกันเยอะมาก เจ้าของโปรเจคต์ก็มาพูดคุยกับเราว่าหลังจากจบแคมเปญรณรงค์ จะช่วยกันเก็บไวนิลมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร เราก็ออกแบบเป็นกระเป๋า 2-3 แบบ สั่งผลิตให้กลุ่มแม่บ้านตัดเย็บ ให้ผู้จัดงานนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้”
“พูนสุขคราฟท์เราไม่ได้รับซื้อขยะมาทำผลิตภัณฑ์ และบอกเสมอว่า ขยะที่คุณเก็บหรือคัดแยกไว้ในครัวเรือน ในหน่วยงานของคุณ ขอให้นำไปขายก่อนเป็นอันดับแรก ตรงนั้นมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินกลับมาได้ เราจะรับฝาขวดพลาสติกจากตู้ของเราที่ติดตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นขยะที่นักท่องเที่ยว คนผ่านไปผ่านมาหย่อนไว้ดีกว่าทิ้งรวมกันไปในถังขยะ เราจะนำขยะจากตรงนั้นมาล้างทำความสะอาด คัดแยกสีแยกประเภท แล้วนำมาเข้าเครื่องบด เพื่อนำไปเข้าเครื่อง Injection ฉีดอัดพลาสติกให้เป็นตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งขยะที่เรารวบรวมมาได้ก็เป็นปริมาณที่มากมายเกินพอแล้วที่จะทำผลิตภัณฑ์ออกมา ระบบกำจัดขยะของจังหวัดภูเก็ตสามารถรองรับขยะได้ประมาณ 700 ตันต่อวัน ช่วงโควิดเราสร้างขยะกันประมาณ 1,000 ตันต่อวัน เมื่อโควิดหมดไปเริ่มเปิดประเทศ การท่องเที่ยวกลับมา ทุกวันนี้ปริมาณขยะในจังหวัดภูเก็ตอยู่ที่ประมาณ 1,500 ตันต่อวัน เพิ่มเป็นเท่าตัวของปริมาณที่ระบบสามารถรองรับได้ ส่วนที่เราได้แบ่งเบาขยะบางส่วนออกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตรงนี้คิดเป็นเพียง 5% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งผมมองว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ ในสถานการณ์ที่ขยะล้นเมืองเช่นนี้”
พูนสุขคราฟท์ไม่เพียงแต่คิดสร้างสรรค์รีไซเคิลขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน แต่คุณอู๋ยังทำเวิร์คชอปเล็กๆ เกี่ยวกับขยะ สอนเรื่องการแยกขยะ โดยเปิดสตูดิโอของตัวเองให้เด็กๆ และผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ “เราไม่ได้ทำแค่ต้นทางหรือปลายทาง แต่เราทำทั้งระบบ เราปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะให้เด็กๆ ซึ่งมันสำคัญมากในการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว เราสร้างขยะเป็นปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากการบริโภคของนักท่องเที่ยว ถ้าเรายังไม่ตระหนักเรื่องนี้ภูเก็ตในอนาคตขยะล้นเมืองแน่นอน”
“ทิศทางของภูเก็ตในวันข้างหน้า เราควรจะมองเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง มากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างน้อยๆ ลองหันกลับมามองวิถีเดิมๆ ลดใช้ถุงพลาสติก ลดใช้ Single Use Plastic ความยั่งยืนอาจจะหมายถึงการกลับคืนสู่ความเรียบง่าย กลับไปสู่วิถีดั้งเดิม ซึ่งเราอาจจะสะดวกสบายน้อยลง แต่ถ้ามันทำให้ภูเก็ตบ้านเราน่าอยู่มากขึ้น เราทุกคนก็ต้องช่วยกันทำ”