อ๊ามจุ้ยตุ่ยเต้าโบเก๊ง (จุ้ยตุ่ย)
ภูเก็ต
พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ)
8 ตุลาคม 2567 - 20:00 น
พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์)
10 ตุลาคม 2567 - 20:00 น
พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ)
9 ตุลาคม 2567 - 8:00 น
ภูเก็ต
8 ตุลาคม 2567 - 20:00 น
10 ตุลาคม 2567 - 20:00 น
9 ตุลาคม 2567 - 8:00 น
ความเป็นมา :
ชาวจีนมีประวัติการอพยพไปยังดินแดนต่าง ๆ มาเป็นเวลาช้านาน ประวัติศาสตร์เดินทางของชาวจีนโพ้นทะเลมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งตัวอย่างที่เด่นชัด คือ การเดินทางของนายพลเจิ้งเหอสมัยราชวงศ์หมิง นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนที่ได้ยกกองทัพชาวจีนล่องเรือไปสำรวจทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย และจากนั้นชาวจีนก็เริ่มมีการอพยพไปตั้งรกรากในดินแดนแห่งใหม่อยู่เรื่อยมา จนกระทั่งในสมัยปลายราชวงศ์ชิง ระบบการปกครองของประเทศจีนเริ่มระส่ำระสาย ชาวบ้านเริ่มอดอยาก ครอบครัวที่เคยสุขสบายกลับตกต่ำลง ชาวบ้านเกิดการต่อต้านระบบ การปกครองจึงก่อการปฏิวัติไม่ว่างเว้น ชาวจีนกลุ่มหนึ่งจึงเลือกที่จะอพยพไปตั้งรกรากยังดินแดนแห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนในแถบ ตอนใต้ของประเทศจีน เช่น ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ไหหลำ เป็นต้น ซึ่งเป็นเมืองท่าเก่าแก่ มีอาณาเขตติดกับทะเล
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ชาวจีนมีการติดต่อการค้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัยและ มีความสัมพันธ์อันดีกันมาทุกยุคทุกสมัย ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาจำนวนมากขึ้นในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยกลุ่มชาวจีนที่อพยพมามักจะถูกเรียกว่า “ซินแขะ” เป็นคำภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า “ผู้มาใหม่” ชาวจีนบางกลุ่มเลือกที่จะตั้งรกรากในดินแดนแถบภาคกลางของประเทศไทย บางกลุ่มเดินทางไปยังท่าเรือสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง และเดินทางต่อมายังภาคใต้ของประเทศไทยและสิ้นสุดที่เมืองทุ่งคา (ชื่อเรียกจังหวัดภูเก็ตในอดีต)
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองทุ่งคานั้นส่วนมากเป็นกลุ่มของชาวจีนฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ และแต้จิ๋ว ชาวจีนในยุคแรกเข้ามาประกอบอาชีพเป็นกุลีเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งต่อมาแรงงานชาวจีนก็ได้หลั่งไหลเข้ามายังเมืองทุ่งคาเป็นจำนวนมาก ด้วยชาวจีนมีนิสัยขยันอดทนและรู้จักเก็บหอมรอมริบก่อร่างสร้างตัว จนมีฐานะ บ้างก็ร่ำรวยเป็นเศรษฐีส่งเงินกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อช่วยเหลือครอบครัวได้ บ้างก็อดอยากปากแห้ง เสพสุรายาเมา สูบฝิ่นจนกลายเป็นขอทานยาจกก็ให้เห็นกันทั่วไป ชาวจีนที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองทุ่งคานี้ภายหลังได้แต่งงานอยู่กินกับสาวพื้นเมือง มีลูกหลานที่รู้จักกันในนามของ “บ๊าบ๋า” นั่นเอง
เมืองทุ่งคาซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวจีนอพยพในสมัยนั้นได้อาศัยรวมกันเป็นชุมชนหลายชุมชน และชุมชนหนึ่งถือเป็นชุมชนเมืองซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยนั้น คือ ชุมชนตัวโพ้ (ชุมชนตัวโพ้ หมายถึง ตลาดใหญ่ ซึ่งตลาดใหญ่ในที่นี้หมายถึงย่านการค้าถนนถลาง) เป็นย่านการค้าที่สำคัญ บริเวณใกล้เคียงเป็นท่าเรือสำคัญที่มีเรือสำเภาที่ขนถ่ายสินค้าเข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก บริเวณเมืองนี้ เป็นที่อาศัยของชาวบ้านทั่วไป พ่อค้าที่เปิดกิจการห้างร้าน บริษัท และกงสีของบรรดาคหบดีมีฐานะอีกด้วย และเนื่องจากเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ผู้คนที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และมาติดต่อธุรกิจการงานต่าง ๆ ก็หลั่งไหลกันเข้ามาในย่านนี้เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะมีแหล่งบันเทิงเริงใจตั้งอยู่ในย่านนี้ด้วยเช่นกัน หั่งอาหล่ายหรือซอยรมณีย์เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับชายหนุ่มในอดีต ภายในนั้นมีโรงงิ้ว โรงละคร โรงฝิ่น สุรา ยาเมา และซ่องโสเภณี เพื่อรองรับผู้ที่เสร็จจากการติดต่อธุรการงานได้แวะเวียนมา เสพสำราญกัน หรือแม้กระทั่งบรรดานายเหมือง กุลีเหมืองก็มาเสพสำราญในสถานที่แห่งนี้เช่นกัน
คณะงิ้วโกก๊ะหี่ เดินทางมาจากเมืองฮกเกี้ยน ประเทศจีน เดินทางเพื่อมาแสดงให้กับชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในต่างถิ่น ก็ได้เลือกทำเลที่ตั้งที่เป็นแหล่งชุมชนในการตั้งโรงงิ้ว เพราะเห็นว่าจะมีผู้คนเข้ามา ชมงิ้วกันจำนวนมากทำให้มีเงินมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องกัน คณะงิ้วโกก๊ะหี่นี้จึงได้เลือกหั่งอาหล่าย เป็นสถานที่ตั้งโรงงิ้ว และเปิดการแสดงนับแต่นั้นมาโดยธรรมเนียมของชาวคณะงิ้วนั้นเมื่อถึงช่วงเดือนเก้า สมาชิกในคณะงิ้วจะต้องประกอบพิธีกินผัก สวดมนต์เพื่อบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ที่นับถือ รวมไปถึงการบูชา กิ๊วอ๋องไต่เต่เพื่อสืบชะตา ขอพรให้อายุมั่นขวัญยืน อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า ซึ่งธรรมเนียมนี้ ไม่ว่าคณะงิ้วจะย้ายไปยังชุมชนใดก็ต้องถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด แต่ทั้งนี้จะทำกันเพียงในกลุ่มของชาวคณะงิ้วด้วยกันเท่านั้น ภายหลังชาวเมืองทุ่งคาหรือภูเก็ตในสมัยนั้น เห็นว่าการกินผักและมีพิธีการสวดมนต์ ขอพรนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม จึงได้มีชาวท้องถิ่นเข้าร่วมการกินผักนี้ด้วยเช่นกัน นานวันเข้าจึงกลายเป็นงานกินผักที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นจากจุดเริ่มต้นเพียงคณะงิ้ว กลายเป็นงานประเพณีของชุมชนในเวลาต่อมา โดยธรรมชาติของคณะงิ้ว ที่จะไม่ค่อยตั้งอยู่เป็นหลักเป็นฐานมั่นคง แต่จะร่อนเร่ไปตามชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากเพื่อเปิด การแสดง ดังนั้นเมื่อคณะงิ้วโกก๊ะหี่นี้เห็นลู่ทางในการทำมาหากินที่อื่นที่ดีกว่า ก็ได้ย้ายไปเปิดการแสดงที่อื่นต่อไป แต่ก่อนที่จะย้ายไปนั้นด้วยเห็นว่าชาวทุ่งคาหรือชาวภูเก็ตในสมัยนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา และได้ เข้าร่วมการกินผักมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและคาดว่าจะสามารถถือปฏิบัติสืบต่อไปได้จึงได้มอบวัตถุมงคลและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการกินผักให้แก่ชาวเมืองทุ่งคาไว้ ชาวเมืองทุ่งคาต่างร่วมใจกันสร้างเป็นศาลเจ้าขึ้น ในบริเวณหั่งอาหล่ายนั้นเพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบงานกินผักและประกอบพิธีกินผักเรื่อยมา
อยู่มาไม่นานนักก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ศาลเจ้าในหั่งอาหล่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้าน ในหั่งอาหล่ายและแถบถนนถลางต่างก็ช่วยกันดับไฟ ส่วนของผู้ใหญ่สุ่ยติ้น 3 (นายเอี๋ยวสุ่ยติ้น) ผู้ใหญ่บ้านตำบลระเง็ง 4นายเจี่ยกี่เต็ก นายสุ่น (ไม่ทราบนามสกุล) และหลาย ๆ ท่านเข้าไปภายในศาลเจ้าเพื่อขนย้ายเฮี้ยวหูและสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญเพื่อหนีเพลิงย้ายมายังเนินเขาเป๊งหย่องซ้าน ชุมชนจุ้ยตุ่ย ได้นำข้าวของบางส่วนฝากไว้ในศาลเจ้าปุดจ้อและบางส่วนตั้งไว้ที่สวนพลูข้างศาลเจ้าปุดจ้อ โดยสร้างเป็นเพิงเล็ก ๆ สำหรับเก็บของเท่านั้น เมื่อถึงช่วงเดือนเก้าก็จะสร้างเป็นอาคารไม้มุงด้วยหลังคาจากขนาดเล็กเป็นการชั่วคราวในบริเวณสวนพลูข้างศาลเจ้าปุดจ้อ เพื่อประกอบพิธีกินผักอย่างที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งศาลเจ้าเก่า และเมื่อเสร็จสิ้น พิธีกินผักแล้วก็จะทำการรื้อถอนตัวอาคารศาลเจ้าแบบชั่วคราวนี้ลง เป็นเช่นนี้อยู่ประมาณ 3 ปี ภายหลังได้ปรึกษากับเจ้าของที่ดินเพื่อสร้างศาลเจ้าอย่างถาวร (ที่ดินผืนนี้ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์หลายคน เดิมเป็นที่ดินของมารดานายโก๊ยก่วนสิ่ว ภายหลังได้ตกเป็นของนายโก๊ยก่วนสิ่ว ต่อมาได้ถ่ายโอนกรรมสิทธิ์นี้ให้แก่นายต้อง แซ่ซื่อ เมื่อนายต้องเสียชีวิต ที่ดินผืนนี้จึงตกเป็นของนางซิ่วบี๋ แซ่ซื่อ สุดท้ายที่ดินผืนดังกล่าว ได้ถูกซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของศาลเจ้า ด้วยจำนวนเงิน 1,300,000 บาท โดยมีนายเฉ่งสิ่ว (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นผู้สมทบทุนหลัก โดยศาลเจ้าหลังแรกนั้นเป็นศาลเจ้าไม้มุงด้วยหลังคาจากขนาดกว้าง 1 ห้อง ให้ชื่อว่า “ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งนั่นเอง
ภายหลังชาวบ้านเริ่มเข้ามาร่วมงานกินผักของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งมากขึ้นจึงได้มีการขยายศาลเจ้าทางด้านข้างซ้ายและขวาออกไปอีกเป็น 3 ห้อง รูปแบบคล้ายกับศาลเจ้าในปัจจุบันแต่ยังคงเป็นศาลเจ้าไม้หลังคามุงจากอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 เพื่อหาม้าทรงโลเชี้ยประจำศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ซึ่งในขณะนั้นมี ม้าทรงของโลเชี้ยทั้ง 3 คน จึงได้มารวมตัวกันที่ศาลเจ้าเพื่อทำการต้าวหวด (ประลองวิชาอาคม) โดย นายตันอิ้วฮก (แปะควาย) ได้ให้ม้าทรงโลเชี้ยทั้งสามเขียนใบ้หวย หากม้าทรงโลเชี้ยองค์ไหนสามารถใบ้หวย ได้ถูกต้อง ก็จะได้รับตำแหน่งม้าทรงโลเชี้ยประจำศาลเจ้า ซึ่งภายหลังหวยได้ออกตรงกับเลขที่โลเชี้ยกิ้มใบ้ให้ ทำให้โลเชี้ยกิ้มได้รับตำแหน่งม้าทรงโลเชี้ยประจำศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งไปในที่สุด ฮ้วดกั๊วโก๊ยอิ้วฮวดหลังจากที่ได้ถูกหวยที่ได้จากการใบ้ของโลเชี้ยกิ้ม จึงได้บริจาคเงินที่ได้มาจากการถูกหวยให้แก่ทางศาลเจ้า เพื่อเป็นทุนทรัพย์ในการเปลี่ยนหลังคาจากมาเป็นหลังคาสังกะสีในปี พ.ศ. 2503 พร้อมทั้งได้ใช้สีแดงเขียนหมายเลข 925 ลงบนแผ่นสังกะสีที่ใช้มุงหลังคาศาลเจ้าอีกด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่มาของการเปลี่ยนหลังคาศาลเจ้าในครั้งนี้
ราวปลายปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา กิ่มซิ้นขนาดใหญ่ได้เริ่มทยอยกันเข้ามาประดิษฐานภายในศาลเจ้า ทั้งจากผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวายและทางศาลเจ้าออกทุนทรัพย์ในการจัดสร้างเอง การมาของกิ่มซิ้นขนาดใหญ่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “อ๊ามแตก” ในปี พ.ศ. 2523 เนื่องจากพื้นที่ในการประดิษฐานไม่เพียงพอ โก๊ปู้น (นายสุนทร จิรพัฒนโสภณ) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานการจัดสร้างจึงได้มีโครงการจะขยายตัวอาคารศาลเจ้าเพื่อเป็นการรองรับขนาดและปริมาณของกิ่มซิ้น รวมไปถึงเพื่อให้ตัวอาคารศาลเจ้ามีความแข็งแรงคงทนและสวยงามเพิ่มขึ้นด้วย จึงได้ออกเรี่ยไรเงินเพื่อปรับปรุงตัวอาคารศาลเจ้าเป็นอาคารหินอ่อนหลังปัจจุบัน
โก๊ปู้นจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหาทุนทรัพย์ โดยการขอเรี่ยไรจากชาวบ้านและเดินทางไปเรี่ยไรเงินจากเหล่าบรรดานักธุรกิจที่กรุงเทพฯ ด้วย โก๊ปู้นได้ให้ช่างชาวจีนแต้จิ๋วจากกรุงเทพฯ เป็นผู้เขียนแบบพิมพ์เขียวของตัวอาคารศาลเจ้าหลังปัจจุบัน รวมไปถึงได้ว่าจ้างนายช่างจากกรุงเทพฯ มาดำเนินการควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2524 ก็ได้ทำการรื้อถอนตัวอาคารศาลเจ้าหลังคาสังกะสีทันที โดยสร้างเพิงชั่วคราวหน้าศาลเจ้าสำหรับประดิษฐานกิ่มซิ้นทั้งหมดในขณะดำเนินการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ได้ทำพิธีเปิดศาลเจ้าหลังใหม่คือศาลเจ้าที่เห็นอยู่ ในปัจจุบัน
จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ศาลเจ้าเก่าและย้ายถิ่นฐานมาตั้งยังดินแดนแห่งใหม่ กว่าจะก่อร่างสร้างตัว จนกลายเป็นศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งในทุกวันนี้ ศาลเจ้าที่มีความสวยงามทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม อุดมด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เป็นศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์ไทยจีน แขนงต่าง ๆ มากมาย ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ณ ดินแดนเป๊งหย่องซ้าน ชุมชนจุ้ยตุ่ยเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่และยังคงเป็นอย่างนี้ชั่วนิรันดร์
ที่ตั้ง :
ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต 83000
ที่มาข้อมุล : https://communityarchive.sac.or.th/