อ๊ามยกเค่เก้ง (ซอยพะเนียง)

ภูเก็ต

พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ)

8 ตุลาคม 2567 - 20:45 น

พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์)

11 ตุลาคม 2567 - 20:00 น

พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ)

10 ตุลาคม 2567 - 6:30 น

ความเป็นมา :

อ๊ามยกเค่เก้ง (ศาลเจ้าสามกองใน) เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐ์ฐานขององค์ จ้อซูก๊ง หรือ เฉ่งจุ้ยจ้อซือ หรือเรียกว่าอ๊ามสามกองใน ศาลเจ้าแห่งนี้มีอายุร้อยกว่าปี เดิมทีศาลเจ้าแห่งนี้ก็เป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ ต่อมาด้วยแรงศรัทธาก็มีการขยับขยายต่อเติมเรื่อยมาจนเป็นดังปัจจุบัน

ประวัติพระเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง
พระเฉ้งจุ้ยจ้อซู้ก๋ง เดิมชื่อ ผูชวี (ตัน ผ่อ เจ่ว) เป็นคนตระกูล ( 陈 ) แซ่เฉิน( แซ่ตัน ) ท่านถือกำเนิดที่เชิงเขากู่ซาน หมู่บ้านเสี่ยวก้อ ตำบลหยงชุน คืออำเภอหยงชุน จังหวัดเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อวันที่ ๖ ค่ำ เดือน ๑ ตามปฏิทินจีน แต่ปี พ.ศ. กำเนิดต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกัน คือ พ.ศ. ๑๕๕๔ – พ.ศ.๑๕๘๗ และ พ.ศ. ๑๕๙๐ แต่ในที่นี้ใช้ พ.ศ. ๑๕๘๗ เป็นหลัก (ตามที่นายจี้หยวน นักวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงชี ไทเป ไต้หวัน ซึ่งเขาได้อ้างอิงจากบทความของ หลิน ซีสุ้ย จากวารสารภาคผนวกของวารสารอายุ่ย พิมพ์ที่ไทเปโดย( สมาคมอันซีแห่งไทเปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ) ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งเหรินจง ( จ้าวเจิน ) ใช้ปีรัชกาลว่าชิงหลี่ เป็นปีที่ ๗ แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๖๖ – ๑๖๐๖ มีเมืองไคฟงเป็นเมืองหลวง นามบิดามารดามิได้ปรากฏ

จากตำนานกล่าวว่า ท่านผูชวีได้ช่วยบิดามารดาเลี้ยงแพะแถบเชิงเขากู่ซาน แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านแตกต่างจากชาวจีนฮั่นทั่วไปก็คือ ท่านมีผิวดำ ตัวดำ หน้าดำ จมูกโด่งและงองุ้ม ซึ่งอาจจะสืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดียแขกทมิฬทางภาคใต้ ที่เดินทางมาค้าสำเภากับพวกอาหรับที่มาจอดแวะท่าเรือเมืองเฉวียนโจว อีกประการหนึ่งพื้นเพเดิมของชาวเมืองแถบนี้ก่อนที่ชาวจีนฮั่นจะอพยพลงมา มีพวกชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ชนพวกนี้กล่าวกันว่า อพยพขึ้นไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านผูชวี มีปัญญาเฉลียวฉลาดตั้งแต่สมัยเด็ก นิสัยชอบศึกษาหาความรู้ทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นทั่วไปแต่ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปก็คือ ท่านชอบศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยังเยาว์ ท่านศึกษาได้ลึกซึ้งและแตกฉาน ในฐานะที่เป็นคนอาศัยอยู่แถบเชิงเขาที่มีพืชนานาชนิด ท่านจึงได้ศึกษาเรื่องพืชสมุนไพร ไปด้วยจนสามารถนำมาประกอบเป็นยารักษาคนไข้ได้นเชี่ยวชาญและเป็นแพทย์ประจำ ตำบลอีกด้วย

ต่อมาท่านได้ถือเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนานิกายมหายานท่านบวชวัดไหนไม่ปรากฏ แต่ต่อมาท่านได้มาพำนักที่วัดหมู่บ้านเผิงไหล อำเภออันซี แขวงเฉวียนโจว ตอนบวชน่าจะได้ฉายาว่า เหอซั่ง ผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ได้อบรมสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้าน ทั้งที่หมู่บ้านเผิงไหลและตำบลใกล้เคียง และยังได้ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคและเงินทองแก่ผู้ยากไร้ ด้วยความรู้แพทย์แผนจีนอย่างดี พระโจวสุ่กงจึงช่วยรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้าน นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้วยังได้พัฒนาหมู่บ้านด้วยการออกทุนทรัพย์ร่วมกับ ชาวบ้านก่อสร้างสะพาน ถนนหนทางหลายแห่ง ก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบพิธีขอฝนประจำหมู่บ้าน แต่การศึกษาทางธรรมะของท่านก็เป็นไปด้วยดี จนท่านมีภูมิธรรมสูงได้ชื่อว่า พระผู้มีน้ำใจใสสะอาดบริสุทธิ์ คือ เฉ่งจุ้ยโจวซือ หรือ ชิงสุ่ยชวีซือ ซึ่งหมายถึงพระผู้สำเร็จธรรมชั้นสูงเทียบได้กับพระอรหันต์

ณ ที่ตำบลเผิงไหล มีหน้าผาระหว่างภูเขาเผิงไหลซานกับภูเขาหลิงสิ่วซาน หน้าผาแห่งนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า หน้าผาจางเอี๋ยน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหน้าผาชิงสุ่ย หรือ เฉ่งจุ้ย เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระเฉ่งจุ้ยโจวซือ ในปี พ.ศ. ๑๖๒๖ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งเสินจง ( จ้าวชวี ) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ใช้ปีรัชกาลว่า หยวนเฟิงที่ ๖ ได้เริ่มก่อสร้างวัดบนหน้าผาเฉ่งจุ้ย และให้ชื่อว่า วัดเฉ่งจุ้ยโจวซือ หรือ ชิงสุ่ยเอี๋ยน หรือ วัดเผิงไหล ขณะที่พระเฉ่งจุ้ยโจวซืออายุได้ ๓๙ ปี ตัวอาคารของวัดคงจะได้พัฒนาก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา

พระเฉ่งจุ้ยโจวซือได้ปฏิบัติธรรมและบริการสังคมในละแวกนั้น จนอายุได้ ๖๕ ปี จึงมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๑๖๕๒ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮุยจง

ที่มาข้อมูล https://news.phuketindex.com/