ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต 2567

3-11 ตุลาคม 2567

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต    หรือที่ชาวบ้านเรียก “เจี๊ยะฉ่าย”  นั้นเป็นของลัทธิเต๋า ซึ่งนับถือบูชาเทวดาเทพเจ้าวีรบุรุษเป็นประเพณีที่คนจีนนับถือกันมาช้านาน ตรงกับวันขึ้น 1 คjeถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกปี ประเพณีถือศีลกินผัก ได้รับประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2561 ประเภท รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ลักษณะมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล

พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ)

เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีขบวนธงและป้ายแห่นำหน้า ต่อด้วยเสลี่ยงเล็ก (ไฉ้เปี๋ย) ต่อด้วย ตั่วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่)  ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชา หน้าบ้านและคุกเข่าอยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อรับพร จากองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป

พิธีโก้ยห่าน(พิธีสะเดาะเคราะห์)

พิธีกรรมนี้ทำที่อ๊าม โดยผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ต้องตัดกระดาษเป็นรูปตัวเองพร้อมเงินตามศรัทธาและต้นกุ้ยช่าย 1 ต้น เดินข้ามสะพาน ให้ผู้ประทับทรงประทับตรา ด้านหลังของเสื้อที่สวมเรียกว่า “ต๊ะอิ่น” หมายถึงผู้ที่ผ่านการสะเดาะเคราะห์แล้ว ***การข้ามสะพานเปรียบเสมือนการเดินทางเข้าสู่ชีวิตใหม่***

พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ)

เป็นพิธีกรรมเพื่อชำระพลังไม่ดีออกจากร่างกายผู้ร่วมพิธีกรรมต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

พิธีส่างกิ้วอ๋องไต่เต่ (พิธีส่งพระ)

ในคืนวันสุดท้ายของประเพณี จะมีการส่งองค์หยกอ๋องซ่งเต่ ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้งช่วงเวลา 22:30 น. กลับสวรรค์หลังจากนั้นก็ส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (ส่วนใหญ่จะส่งที่ชายทะเลสะพานหิน) เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตูไฟทุกดวงในอ๊าม ต้องดับสนิท และปิดประตูใหญ่พิธีส่งพระ ถนนทุกสายในตัวเมืองภูเก็ตจะเต็มไปด้วยประชาชนที่มาส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่กลับสู่สวรรค์ เป็นพิธีที่ต้องมาชม โดยเฉพาะช่วง ถนนถลาง ถนนภูเก็ต วงเวียนหอนาฬิกา และเส้นทางไปจนสุดสะพานหิน