เริ่มต้นเดือนแห่งความรักด้วยความหวานของขนม ที่นิยมใช้ในพิธีแต่งงานตามวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน หรือชาวบาบ๋าบนเกาะภูเก็ต ซึ่งในอดีตนิยมจัดงานแต่งงานที่บ้าน และจะทำขนมหวานนานาชนิดในพิธีแต่งงานและเลี้ยงแขกเหรื่อญาติมิตร ขนมแต่ละชนิดล้วนมีความหมายที่ดี มีนัยยะแฝงถึงความรักและการครองคู่ เป็นแง่คิดดีๆ สำหรับคู่รัก ที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้มั่นคง ปัจจุบันขนมเหล่านี้ซื้อหามารับประทานได้ไม่ยาก วาเลนไทน์ปีนี้ ลองเปลี่ยนไอเดียของขวัญจากช็อคโกแลตมาเป็นขนมหวานดูบ้าง รับรองว่าอร่อยและดีต่อใจ
กาละแม หรือเรียกแบบชาวภูเก็ตว่า กันแม เป็นขนมประจำงานแต่งงานที่ยังนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยลักษณะของเนื้อขนมที่หวานและเหนียวหนึบ สื่อความหมายถึงความรักที่หวานชื่น ความเหนียวแน่น ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว อีกทั้งกาละแมยังมีขั้นตอนวิธีการทำที่ยุ่งยาก กว่าจะสำเร็จต้องใช้ความอดทนและใช้เวลานาน เปรียบเสมือนการใช้ชีวิตคู่ที่จะต้องมีความอดทน หนักแน่น มีความเข้าใจ ร่วมแรงร่วมใจกัน ชีวิตคู่จึงจะมีความสุข กาละแมทำจากแป้งข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาล กวนให้เข้ากันจนเหนียว หวาน มัน ปัจจุบันหารับประทานได้ทั่วไป ราคาไม่สูง เคี้ยวเพลินเหมาะเป็นของว่างยามบ่ายคู่กับกาแฟหรือชาอุ่นๆ รสดีสักถ้วย
ข้าวเหนียวหีบ หรือข้าวเหนียวหนีบ มีลักษณะเป็นข้าวเหนียวสองสี คือสีม่วงและสีขาวผสมเป็นเนื้อเดียวกัน เปรียบเสมือนคู่บ่าวสาวที่มาจากต่างครอบครัว เมื่อมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน หากมีความรักใคร่กลมเกลียว ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สีม่วงของข้าวเหนียวหีบมาจากสีของดอกอัญชัน ข้าวเหนียวสองสีนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงนำไปอัดด้วยเครื่องมือที่ทำจากแผ่นไม้ใช้น้ำหนักกดทับจนเนื้อข้าวเหนียวแน่น ขั้นตอนนี้เองเป็นที่มาของชื่อ ข้าวเหนียวหนีบ หรือ ข้าวเหนียวหีบ จากนั้นนำไปราดหน้าด้วยสังขยาสีเขียวหรือเหลือง ตัดเป็นชิ้นพอดีคำ ข้าวเหนียวหีบหาซื้อไม่ยาก ตามตลาดสดยามเช้า ร้านขายขนมสดทั่วไป ขนมชนิดนี้สีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม เวลารับประทานความเหนียวหนึบของข้าวเหนียวตัดรสกับสังขยาลงตัวพอดี เหมือนความรักที่หากมีทั้งความหวานและความเข้าใจกันแล้วทุกอย่างก็ลงตัว
ขนมบูหลู้ หรือขนมไข่ ทำจากแป้งสาลีผสมน้ำตาล ไข่ไก่ นม แล้วอบในพิมพ์ทองเหลืองจนเนื้อขนมฟู ความฟูของขนมนี้เอง ที่มีนัยยะหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง เป็นการอวยพรคู่รักให้มีชีวิตแต่งงานที่ดี ก้าวหน้าเฟื่องฟูเหมือนขนมบูหลู้ ขนมบูหลู้รับประทานร้อนๆ หรืออบเสร็จใหม่ๆ หอมอร่อยไม่แพ้ใคร ขนมบูหลู้หาซื้อได้จากร้านขายขนมพื้นเมืองภูเก็ตทั่วๆ ไป
ขนมปักถ่องโก้ มีลักษณะคล้ายขนมถ้วยฟู เนื้อแป้งสีขาว ด้านบนมีจุดสีแดงหรือชมพูเป็นสีมงคลสำหรับงานแต่งงาน ขนมปักถ่องโก้ทำจากแป้งผสมยีสต์แล้วนึ่งจนเนื้อขนมขึ้นฟู แล้วจึงสลัดสีใส่บนหน้าขนม เนื้อขนมมีลักษณะโปร่ง เคี้ยวนุ่มหนึบ ความฟูของขนมถูกเชื่อมโยงกับความเฟื่องฟู เป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวเจริญรุ่งเรือง ขนมปักถ่องโก้หาซื้อได้ตามร้านขายขนมสด ขนมพื้นเมืองภูเก็ต โดยเฉพาะตลาดเกษตรยามเช้า
ขนมห่อ หรือ ขนมสอดไส้ เป็นขนมยอดนิยมในงานแต่งงาน เนื้อขนมเป็นกะทิผสมแป้ง สอดไส้มะพร้าวขูดผัดกับน้ำตาลจนเหนียวห่อด้วยแป้งปั้นเป็นก้อนกลม ห่อใบตอง เตียวด้วยใบมะพร้าว กลัดไม้กลัด แล้วนำไปนึ่งจนสุก ขนมสอดไส้สำหรับงานแต่งงานต้องมีไส้ 2 ก้อน หมายถึงชีวิตคู่ที่คนสองคนต้องอยู่เคียงข้างกัน เนื้อขนมมีทั้งความหวาน ความหอม เนื้อนอกนุ่มไส้ในหนึบ เป็นขนมหวานของโปรดของหลายคนและยังเป็นที่นิยมจึงหาซื้อได้ไม่ยากตามร้านขายขนมไทย
ขนมเทียน เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ทำจากถั่ว น้ำตาล จันอับ ความเหนียวของแป้งภายนอกหมายถึง ความสามัคคี น้ำตาลและจันอับ หมายถึงความหวาน ความยิ่งใหญ่ ถั่ว หมายถึงความเจริญงอกงาม อีกทั้งรูปร่างของขนมที่ห่อด้วยใบตองเป็นทรงสามเหลี่ยม มียอดแหลม หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ขนมเทียนจึงมีความหมายดั่งคำอวยพรให้คู่บ่าวสาวรักใคร่ปรองดอง ชีวิตคู่เจริญรุ่งเรือง ความรักงอกงาม สดใสสว่างดังแสงเทียน
ขนมชั้น เป็นขนมที่หารับประทานได้ง่ายทั้งในงานแต่ง และในโอกาสทั่วไป ด้วยรูปลักษณ์ของขนมที่เป็นชั้นๆ ซ้อนกัน ขนมชั้นจึงถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคง ความมั่งมี ความเพิ่มพูน เป็นคำอวยพรให้คู่แต่งงานมีชีวิตคู่ที่มั่นคง มียศถาบรรดาศักดิ์หรือฐานะที่สูงขึ้นๆ ขนมชั้นหาซื้อไม่ยาก มีขายอยู่ทั่วไป
ขนมทองม้วน หรือขนมกาเป็กโก้ย หรือขนมคีบ บ้างก็เรียกว่าขนมทองพับ ด้วยชื่อที่มีคำว่าทอง จึงเป็นขนมมงคลที่เหมาะกับงานมงคล แต่อีกนัยยะหนึ่งด้วยขั้นตอนการทำขนมที่ใช้แป้งผสมน้ำตาลและไข่ ละเลงลงบนพิมพ์โลหะหรือทองเหลือง ร้อนๆ ที่มีลักษณะคล้ายคีมมีสองขา ปลายมีลักษณะเป็นแผ่นกลมมีลวดลาย แล้วประกบพิมพ์เข้าหากันหรือคีบให้แน่น ผิงไฟจนแป้งสุก แล้วจึงแกะออกมาพับหรือม้วน วางทิ้งไว้ขนมจะกรอบกรุบ ด้วยสีสันออกน้ำตาลเหลืองคล้ายทอง จึงถูกเรียกว่าขนมทองม้วน หรือทองพับ เป็นขนมมงคลที่หมายถึงการเกาะเกี่ยวเคียงคู่กัน เหมือนขนมที่ถูกคีบหรือประกบกันไว้นั่นเอง
ขนมฉ้ายถ่าวโก้ย หรือ ขนมหัวผักกาด ฉ้ายถาว หมายถึงหัวไชเท้าซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของขนมนี้ นำมาผสมกับแป้งและน้ำตาล ตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดพอดีคำแล้วนำไปทอด รับประทานกับน้ำตาลทราย เนื้อขนมมีความหนึบมัน ขนมฉ้ายถาวโก้ยมีความหมายว่าให้คู่บ่าวสาวใช้ชีวิตคู่ครองรักครองเรือนอย่างมีความสุข
ขนมซีกั้วโก้ย คำว่า ซีกั้ว เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง แตงโม ส่วน โก้ย หมายถึงขนม ซีกั้วโก้ยจึงหมายถึง ขนมแตงโม ซึ่งแตงโมนั้นเป็นผลไม้มงคลที่ชาวจีนนิยมใช้ในการตั้งโต๊ะไหว้ ด้วยความหมายที่แปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง มียศถาบรรดาศักดิ์ ความกลมโตของผลแตงโมหมายถึง ความกลมเกลียว หลายคนอาจคิดว่าขนมแตงโมมีส่วนผสมจากแตงโม แต่จริงๆ แล้วชื่อขนมแตงโม มาจากรูปลักษณ์ของขนมที่คล้ายแตงโมผ่าซีก คือมีเนื้อขนมด้านล่างเป็นสีเขียวคล้ายเปลือกแตงโม ด้านบนเป็นสีชมพูหรือแดงแล้วแต่จะผสมสีในแป้งขนม หรือถ้าผสมด้วยน้ำตาลแดง เมื่อนึ่งแล้วขนมจะมีสีน้ำตาลแดง ดูแล้วคล้ายเนื้อแตงโมนั่นเอง ขนมซีกั้วโก้ยเป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มหายาก มีขายที่แผงขายขนมสดในตลาดเกษตร ซึ่งต้องไปซื้อแต่เช้าตรู่ ถ้าไปสายขนมมักจะหมด เพราะเป็นขนมที่ทำมาขายไม่ค่อยเยอะ
ขนมผิง เมื่อเอ่ยถึงคำว่าผิง เรามักจะนึกถึงความอบอุ่น ขนมผิงจึงถูกเชื่อมโยงกับความรักในแง่มุมของความอบอุ่น การทำขนมผิงให้อร่อย ผิวปริสวยกำลังดี เนื้อขนมกรุบกัดแล้วเมื่อละลายในปากนุ่มเนียนไม่แข็งกระด้าง ต้องอาศัยการผสมแป้งในสัดส่วนที่พอดี นำไปอบหรือผิงไฟด้วยความร้อนที่พอเหมาะ จึงจะได้ขนมผิงที่สุกหวานหอมน่ารับประทาน เปรียบเสมือนความรัก ที่ต้องใช้เวลาค่อยๆ บ่มเพาะ ดูแลกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน ชีวิตคู่จึงจะหวานชื่นลงตัว
ขนมหุ้นโก้ย เป็นขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่ค่อนข้างหายาก เจอเฉพาะในร้านขายขนมพื้นเมืองที่เป็นขนมสด หรือขนมถาดบางร้าน หรือเจอเฉพาะในงานมงคล เช่นงานบวช หรืองานแต่งงาน ขนมหุ้นโก้ยทำจากแป้งถั่วเขียว กวนจนเหนียวหนึบยืดหยุ่น มักจะแต่งสีขนมด้วยสีชมพู ขนมมีรสหวานพอดีไม่หวานมาก เนื้อขนมแววใส ดูแล้วหวานฟรุ้งฟริ้งเข้ากับงานแต่งงาน ขนมหุ้นโก้ยมีความหมายหมายถึงการอวยพรให้คู่แต่งงานครองรักกันอย่างหวานชื่นเหนียวแน่น หากอยากลองชิมขนมหุ้นโก้ยแนะนำให้ไปหาซื้อที่ตลาดเกษตร ตรงแผงขายขนมสดยามเช้า ซึ่งต้องลองเสี่ยงดวงกัน เพราะขนมมีขายแค่บางร้าน และทำมาขายแค่บางวัน
ข้อมูลจาก : หนังสือวิวาห์บาบ๋าภูเก็ต โดยสมาคมเพอรานากันภูเก็ต