เที่ยวป่าชายเลน ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต

Phuket emag เที่ยวป่าชายเลน-1

‘เที่ยวป่า กับ เที่ยวทะเล คุณชอบอะไรมากกว่ากัน’ คงเคยเจอคำถามประมาณนี้กันมาบ้างใช่ไม๊ บางคนคงตัดใจเลือกคำตอบได้ทันที แต่สำหรับบางคน มันเลือกยากจริงๆ นะ ก็เที่ยวป่ากับเที่ยวทะเลมันก็มีเสน่ห์คนละแบบ และความสนุกคงจะคูณสองถ้าสามารถเที่ยวป่าไปด้วย เที่ยวทะเลไปด้วย จะมีสถานที่ไหนที่ให้ความรู้สึกทั้งร่มรื่นทั้งผจญภัยแบบเที่ยวป่า เต็มอิ่มกับแสงแดดและได้สัมผัสน้ำเค็มแบบเที่ยวทะเล ก็ต้องเที่ยวที่นี่ ‘เที่ยวป่าชายเลน’

ที่ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ในพื้นที่บ้านท่าฉัตรไชย ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ขับรถผ่านหาดทรายแก้วไปนึดนึงก็ถึงแล้ว หากมองจากภายนอกอาจจะคิดว่าที่นี่คือสถานที่ราชการทั่วๆ ไป ขับรถผ่านไปมาถ้าไม่มีกิจธุระอะไรคงไม่คิดจะแวะ แต่รู้หรือไม่ว่าที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนที่เจ๋งสุดๆ กับ ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน’ ที่มีความยาวประมาณ 600 เมตร ตลอดเส้นทางมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่นานาชนิดให้ดูให้ศึกษา มีการจัดทำป้ายข้อมูลให้อ่าน รวมทั้งยังมีกิจกรรมพายเรือคายัคออกไปชมสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลบริเวณจุดเหนือสุดของเกาะภูเก็ต การเดินชมเส้นทางศึกษาป่าชายเลนนี้ จะเดินชมเองก็ได้ หรือถ้าอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับป่าชายเลนแบบจริงจัง และอยากพายเรือคายัคด้วย ก็ควรเข้าไปติดต่อภายในศูนย์ฯ พี่ๆ เจ้าหน้าที่ใจดีจะสละเวลาพาเราเดินชม และจะได้ตระเตรียมเรือคายัคไว้ให้

ทางเดินไม้ทอดผ่านไปในป่าชายเลนคลองอู่ตะเภาที่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 800 ไร่ จะพาคุณไปพบกับความร่มครึ้ม ของต้นไม้ในป่าชายเลน ทั้งต้นโกงกาง ต้นถั่วขาว แสม โป่งแดง ปอทะเล แต่ละต้นมีรูปร่างรูปทรง ลักษณะใบที่แตกต่างกัน การได้ลองสังเกตว่าต้นนั้นคือต้นอะไรต่างกับต้นนี้ยังไงได้ความสนุกสนานและเพลิดเพลิน ถ้ามาช่วงน้ำขึ้น น้ำทะเลจะปริ่มๆ ทางเดิน ให้ความรู้สึกสวยแบบหนึ่ง ส่วนช่วงน้ำลด จะเห็นรากไม้โกงกางแยงไปโยงมาลงพื้นทรายสวยมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง รวมทั้งจะได้เห็นสัตว์ทะเลนานาชนิด ทั้งปูก้ามดาบ ปูแสม กุ้งดิบขัน ปลาตีน รวมทั้งได้เห็นกองดินคล้ายจอมปลวกที่ ‘แม่หอบ’ สัตว์คล้ายกุ้งผสมปูสร้างขึ้นด้วยการขุดดินขึ้นมาก่อไว้เป็นกองๆ เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่เป็นไปในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน

เดินมาไม่ทันเหนื่อยก็ถึงจุดพายเรือคายัค ซึ่งเราจะพายกันเองก็ได้ หรือให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่ช่วยพายนำทางไปด้วยก็ได้ จะได้ชัวร์กับเส้นทางและความปลอดภัยแถมได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนที่ถูกต้อง เส้นทางพายคายัคชมป่าชายเลนนี้มีให้เลือก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางระยะสั้น 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที -1 ชั่วโมง พายเรือคายัคลัดเลาะไปตามป่าชายเลนบริเวณใกล้ๆ และเส้นทางระยะยาว ประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง พายออกปากแม่น้ำ ลัดเลาะตามชายฝั่งไปชมหมู่บ้านชาวมอแกน มองเห็นวิวสะพานสารสิน แล้ววกกลับ ระหว่างทางมีทั้งช่วงที่ต้องพายเรือผ่านกิ่งก้านของต้นโกงกางที่มีสภาพตามธรรมชาติ ต้องลอดต้องหลบใต้กิ่งไม้ที่สอดประสานกันไปมาเป็นอุโมงค์โกงกางที่ร่มรื่น ก่อนจะออกสู่ปากแม่น้ำได้เห็นวิวเปิดโล่งของต้นไม้ชายเลนเป็นทิวแถบสะท้อนผืนน้ำทะเลที่ใสจนมองเห็นพื้นทราย ระหว่างพายไปพี่เจ้าหน้าที่จะคอยแนะนำชี้ชวนให้เราดูต้นนั้นต้นนี้ บอกวิธีสังเกตดูว่าต้นโกงกางใบเล็กกับโกงกางใบใหญ่แตกต่างกันอย่างไร รากอากาศคืออะไร รากค้ำยันคืออะไร ต้นไหนกินได้ ต้นไหนใช้เป็นยาได้ ต้นไม้ป่าชายเลนมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมอย่างไร น่าดีใจที่พื้นที่ป่าชายเลนผืนนี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ร่วม 100 ชนิด สัตว์ทะเลได้มาอาศัยเป็นแหล่งอนุบาลขยายพันธุ์ ชาวบ้านพื้นถิ่นได้ใช้เป็นแหล่งอาหาร ประชาชนทั่วไปได้มาท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สัมผัสได้จริง เรียกว่าความตั้งใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ตในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ดีเยี่ยมเลยทีเดียว

พายคายัควกกลับมาที่เดิม เราขึ้นจากเรือแล้วเดินชมป่าชายเลนตามเส้นทางกันต่อ นอกจากได้เห็นและรู้จักต้นไม้ต่างๆ สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ถ้าเราตั้งใจฟังเสียงรอบๆ ตัว เราจะได้ยินเสียงนกตัวเล็กๆ ที่ส่งเสียงร้องและบินไปมาเกาะตามยอดไม้ ถ้าเราเดินช้าๆ ค่อยๆ มอง ค่อยๆ สังเกตเราจะเห็นแมงมุมตัวเขื่องกำลังตั้งหน้าตั้งตาชักใยสีขาวสวยเป็นแผงใสเวลาต้องแสงแดด ภาพและเสียงธรรมชาติรอบๆ ตัว ทำให้เรารู้สึกสงบ และสบายใจอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเส้นทางนี้ สามารถเข้าชมได้ทุกวัน แต่ถ้าต้องการให้เจ้าหน้าที่พาชม หรือต้องการพายเรือคายัคเที่ยวชมโดยรอบ ซึ่งบอกเลยว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกและได้ความรู้มาก และอาจจะมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อมูลที่ศูนย์ฯ ล่วงหน้าในเวลาราชการ เพื่อดูวันเวลาน้ำขึ้นน้ำลงว่าสามารถออกไปพายเรือได้ช่วงไหน จะได้มาเที่ยวกันในช่วงที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่ควรพลาดถ้ามาเที่ยวภูเก็ต สิ่งสำคัญเมื่อมาเที่ยวแล้วควรปฏิบัติตามกฎของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือไม่ควรส่งเสียงดัง ไม่ควรหักดึงกิ่งไม้ ไม่ควรจับสัตว์ทะเล หรือทิ้งขยะไว้ ซึ่งจะเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนที่ได้รับการอนุรักษ์ดูแลอย่างดี เพราะถ้าหากเกาะภูเก็ตเปรียบเหมือนร่างกาย ป่าชายเลนแห่งนี้ก็เปรียบเหมือนจิตวิญญาณของเกาะภูเก็ต ที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานไว้ให้อยู่คู่กัน

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต เลขที่ 92/7 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

โทรศัพท์/โทรสาร 0-7634-8526

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.